ยุติธรรม มอก. :คอลัมน์ ใบตองแห้ง

 

ลุงตู่บ่นสังคมกระพี้ สนใจแต่เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง โซเชี่ยลมีเดียตั้งตนเป็นตำรวจ เป็นศาล สืบสวนเอง ตัดสินเอง ทำให้ปั่นป่วนกันไปหมด ขอให้แจ้งมาตามช่องทางเพื่อตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม

ท่านพูดถูกแล้วครับ บ่อยครั้งกระแสสังคมตัดสินด้วยอารมณ์ ด่วนสรุป ไม่ฟังความให้รอบข้าง ไม่ใคร่ครวญด้วยเหตุผล แล้วมักจะชักนำกันไปจนล้นเกิน ไม่คำนึงถึงความพอเหมาะพอดี โดยเฉพาะเวลาพิพากษาชีวิตคน จนไม่มีที่ยืนในสังคม

เพียงแต่อีกด้าน มันก็ไม่ใช่ว่าชาวบ้านทั่วไปไม่รู้อะไรถูก อะไรผิด โดยจิตสำนึกพื้นฐาน ถ้าเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นชัด ประชาชนก็ตัดสินได้ เช่น เวลามีคลิปต่างๆ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กร่าง คุณนายจิกด่าพลทหาร ฯลฯ ในเบื้องต้น สังคมก็ชี้ได้ว่าไม่ถูกไม่ควร แม้พึงเผื่อใจฟังคำแก้ต่าง แต่ก็สร้างน้ำหนัก ช่วยตรวจสอบอำนาจในเบื้องต้น ซึ่งถ้าเป็นอดีต สมัยไม่มีโซเชี่ยลมีเดีย การร้องเรียนของประชาชนไม่สามารถส่งผลสะเทือนขนาดนี้

ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามันทำให้เจ้าหน้าที่รัฐวิตก กระทั่งพยายามปิดกั้น ใครพลาดพลั้งโพสต์คลิปวิจารณ์เจ้าหน้าที่แล้วมีหลักฐานไม่เพียงพอก็จะโดนข้อหาหนัก

แน่ละ บางครั้งเช่นเรื่องทะเลาะวิวาทริมถนน โลกโซเชี่ยลดูคลิปข้างเดียวแล้วด่วนตัดสิน เจอคลิปอีกมุมก็เงิบกันไป แต่นั่นเป็นบทเรียนให้สังวรณ์ ให้ตั้งสติ ว่าต้องใคร่ครวญให้ดีก่อนพิพากษาใคร

เพราะเหตุนี้ การที่รัฐจะลงโทษคนจึงต้องมีกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องฟังความรอบข้าง สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ใช้กระบวนการพิสูจน์ โต้แย้ง หักล้าง อย่างเปิดเผยต่อหน้าศาล ซึ่งก็จะพิพากษาด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้อคติสุคติ ไม่ใช่กฎแห่งกรรม ไม่เอาตัวเองเข้าไปผูกพัน ผู้พิพากษาต้องเขียนคำตัดสินเป็นลายลักษณ์อักษร อธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงจำคุก หรือยกฟ้อง ซึ่งโดยปกติก็โต้แย้งได้อีก 2 ชั้น ถึงอุทธรณ์ ศาลฎีกา

ความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ล่องลอยมา ความยุติธรรมมาจากพื้นฐานสามัญสำนึกของมนุษย์นี่เอง แต่มาทำให้เป็นระบบกฎหมาย ทำให้มีมาตรฐาน เปรียบเหมือนสินค้าขึ้นห้าง ไม่ใช่ร้านค้า 20 บาท ก็ต้องมี มอก. ตัวอย่างเช่น คนทำผิดลักษณะเดียวกันก็ต้องรับโทษเท่ากัน ความผิดแต่ละอย่าง ก็ต้องมีโทษลดหลั่นตามความร้ายแรง

มาตรฐานยุติธรรม แม้ใช้ภาษากฎหมายที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ แต่ด้วยสามัญสำนึก ด้วยตรรกะเหตุผล ที่มีในมนุษย์ทุกคน ก็ย่อมเห็นได้ว่าอะไรคือมาตรฐาน อะไรคือสองมาตรฐาน เปรียบเทียบและตั้งคำถามได้ว่าทำไมไม่ใช้มาตรฐานเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านโง่ๆ ไม่รู้หรอกว่าเขาฟ้องด้วยกฎหมายมาตราไหน แต่สามัญสำนึกก็สงสัย ทำไมม็อบบุกยึดทำเนียบรัฐบาล มีความผิดน้อยกว่าม็อบบุกโรงแรม

ชาวบ้านโง่ๆ ไม่รู้หรอกว่ามาตรา 157 ตีความกันอย่างไร แต่สามัญสำนึกก็บอกว่า ถ้าการสั่งใช้แก๊สน้ำตาสลายม็อบถูกชี้มูลความผิด การสั่งใช้กระสุนจริง 99 ศพ ก็ควรถูกส่งฟ้องศาลเช่นกัน

ชาวบ้านโง่ๆ ไม่รู้หรอกว่ารัฐธรรมนูญแตกต่างจากพจนานุกรมอย่างไร แต่ตรรกะบ้านๆ มองว่าถ้าทำผิดคนเดียวก็ไม่ควรลงโทษเหมาเข่ง ยุบทั้งพรรค เปลี่ยนรัฐบาลที่ชาวบ้านเลือกตั้งมา หรือว่าปลดนายกฯ เพียงเพราะทำกับข้าวออกทีวี

ชาวบ้านอธิบายไม่ถูกหรอกว่าอะไรคือความสมเหตุสมผล แต่ความไม่มีเหตุผลมันค้างคาในใจคน

กฎหมายไม่ใช่อภินิหาร กฎหมายต้องอธิบายได้ด้วยเหตุผล อย่างน้อยก็ต้องให้ประชาชนเห็นว่าใช้มาตรฐานเดียวกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่นเมื่อคนแชร์บทความมีความผิดติดคุก ก็ย่อมเกิดคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ไม่เอาผิดเจ้าของบทความ หรือคนแชร์อีกเป็นพัน

ความยุติธรรมต้องมีมาตรฐานเดียว ตั้งแต่เรื่องใหญ่ถึงเรื่องเล็ก ไม่เช่นนั้นก็เกิดความไม่เชื่อมั่น แล้วสังคมก็จะยิ่งตั้งตนเป็นตำรวจ เป็นศาล สอบสวนเอง ตัดสินเอง เพื่อกดดันกระบวนการยุติธรรม ซึ่งซ้ำร้ายเข้าไปใหญ่ เพราะกระแสโซเชี่ยลมักกดดันให้ใช้ยาแรง ลงทัณฑ์เกินเหตุ แล้วกระบวนการยุติธรรมก็มีแนวโน้มจะตอบสนองเพื่อเป็นพระเอก

ถ้าทำให้ประชาชนเชื่อมั่นความยุติธรรมได้ สังคมไทยคงไม่แตกแยกอย่างวันนี้ คงไม่ต้องสกัดกั้นมวลชนไม่ให้มาศาล แบบใช้กฎหมาย (อีกแล้ว) ไล่จับรถตู้ฐานใช้รถผิดประเภท วิ่งออกนอกเส้นทาง ทั้งที่ปกติชาวบ้านก็เหมารถตู้ไปไหนต่อไหนกัน

ความยุติธรรมไม่ใช่อำนาจ ความยุติธรรมไม่ใช่คำสั่ง ความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่มีอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการใช้เหตุผลทางกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา แล้วจะสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ และไม่สะทกสะท้านต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องใช้อำนาจปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน