วันที่ 30 ส.ค. ที่รัฐสภา นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นแย้งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกสม.ว่า กรธ.ได้มอบให้ นางจุรี วิจิตรวาทการ นายนรชิต สิงหเสนี นายเธียรชัย ณ นคร พล.ต.วีระ โรจนวาศ และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เป็นกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย

นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ… ที่สนช.มีกำหนดพิจารณาวาระแรก วันที่ 31 ส.ค.นี้ กรธ.ได้มอบให้ตน นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย และนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง ร่วมเป็นกมธ.วิสามัญเพื่อร่วมพิจารณาในวาระ 2 ส่วนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรธ. และอีก 2 ฉบับได้แก่ ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ทั้ง 2 ฉบับจะเสร็จช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้ ตามกำหนด 240 วัน

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. กล่าวชี้แจงประเด็นที่กสม.ทำความเห็นแย้งมายังสนช. โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมากรธ.ไม่เคยพาดพิงหรือลดความน่าเชื่อถือของกสม.ชุดปัจจุบัน เราอยากทำให้กสม.มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น จึงปรับแก้ไขสถานะของกสม. เพื่อให้ได้รับการยอมรับ มีหลักเกณฑ์ที่ต้องปรับแก้ด้วย จึงต้องคำนึงถึงการแก้ไขข้อบกพร่องที่ยังมีอยู่ของกสม.อย่างรอบด้าน โดยแยกการปฎิบัติหน้าที่กับสถานะการได้มาของกสม. ซึ่งยังมีกระบวนการได้มาที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ยังอยู่ในสถานะเดิม

นายอุดม กล่าวว่า ส่วนการกำหนดให้กสม.ชุดปัจจุบันอยู่ในวาระหรืออยู่ครึ่งวาระต่อไปจนกว่าจะสรรหากสม.ชุดใหม่นั้น ตรงนี้ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แม้กสม.จะระบุว่าหลักการปารีสไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาความน่าเชื่อถือที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย ส่วนการเซ็ตซีโร่ กสม.นั้น เพื่อยกระดับองค์กรให้เป็นที่ยอมรับ ตามเกณฑ์ของสากลและเพื่อประโยชน์ของสูงสุดของสังคมโดยรวม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน