เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป.ป.ช. นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป.ป.ช. ร่วมกันแถลงถึงป.ป.ช.มีมติยื่นอุทธรณ์ผลคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมพธม. ปี2551 เฉพาะพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. จำเลยที่ 4 โดยไม่อุทธรณ์จำเลยที่ 1-3 ว่า ป.ป.ช.นำคำพิพากษาส่วนกลางและส่วนตนมาวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน พบว่าเสียงข้างมาของตุลาการนั้นให้ยกฟ้องจำเลย ขณะที่คำวินิจฉัยส่วนตนก็ไม่พบว่าจะมีประเด็นที่จะอุทธรณ์ได้ ยกเว้นจำเลยที่ 4 คืออดีตผบช.น. ซึ่งได้ปฏิบัติการต่อการชุมนุมในช่วงค่ำ โดยตุลาการเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินเลยมิชอบด้วยกระบวนการ

ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ระบุว่าจะต้องอุทธรณ์ แต่ป.ป.ช.จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยป.ป.ช.จะยื่นอุทธรณ์ในวันนี้(31ส.ค.)

“มติของป.ป.ช.ในการอุทธรณ์ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเอกฉันท์ แต่ทำตามระบบเสียงข้างมากและผมก็ไม่ได้ออกเสียง เมื่อป.ป.ช.เสียงข้างมาก 7 เสียง เห็นว่าไม่ควรอุทธรณ์จำเลยที่ 1-3 เราจึงไม่อุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 4 มีมติเป็นเอกฉันท์ 8 เสียงให้อุทธรณ์ และผมไม่ได้ออกเสียง ส่วนการพิจารณาต่อไปนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาล ะเราอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่คิดว่ามีพยานหลักฐานที่เห็นว่าควรจะอุทธรณ์” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว

เมื่อถามว่าการพิจารณาของกรรมการป.ป.ช.ชุดนี้ดูเหมือนจะแตกต่างจากป.ป.ช.ชุดเดิม ประธานกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า คดีนี้ป.ป.ช.ชุดเดิมได้ชี้มูลไปตั้งแต่ปี 2552 และการพิจารณายื่นอุทธรณ์ก็ถือเป็นคนบริบทกับการพิจารณาชี้มูลความผิด

เมื่อถามว่ากลุ่มพธม.จะยื่นฟ้องป.ป.ช.ต่อกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เป็นความเห็นและเป็นสิทธิของพธม. แต่ยืนยันว่าป.ป.ช.ทำตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่

ด้านนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1-3 และไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 เพราะจำเลยที่4 เมื่อครั้งเป็นผบช.น. ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาความความสงบ กรกฎ 48 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ในฐษนะผู้สั่งการย่อมทราบถึงสถานการณ์การใช้แก๊สน้ำตาตลอดช่วงสลายการชุมนุมโดยเฉพาะช่วงพลบค่ำ เป็นผู้ยินยอมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสั่งการให้ตำรวจยิงหรือขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การที่จำเลยที่ 4 ไม่มีคำสั่งระงับยับยั้งหรือปรับเปลี่ยนวิธีการใช้แก๊สน้ำตาต่อผู้ชุมนุม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย เป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ป.ป.ช.จึงมีมติให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกา เฉพาะจำเลยที่ 4 ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามมาตรา 195 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน