วันที่ 18 ก.ย. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ในแง่การทำงาน หากป.ป.ช.กับอัยการเห็นไม่ตรงกันก็ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน หากอัยการไม่ฟ้อง ป.ป.ช.ก็ฟ้องเองได้ แต่ละคนต่างมีอิสระแล้วให้สังคมพิจารณาผลว่าเป็นอย่างไร แต่บางเรื่อง ป.ป.ช.ก็ต้องทำตาม หากอัยการบอกหลักฐานไม่พอ ป.ป.ช.ต้องไปสอบเพิ่มเติม

นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบ ให้เลิกใช้ระบบอนุกรรมการ ที่กว่าจะเริ่มลงมือตรวจสอบได้ต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน มาใช้ระบบไต่สวนเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เริ่มทำงานได้ทันที กำหนดกรอบเวลาตรวจสอบ 2 ปี หากเกินกำหนด ก็ต้องสอบเจ้าหน้าที่ว่าทำไมล่าช้า

ส่วนการชี้มูลความผิดของเจ้าหน้าที่นั้น กำหนดด้วยว่า ป.ป.ช.ต้องทำรายละเอียดให้รอบคอบและเป็นที่ยุติ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีซูเอี๋ยกันระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ที่ต้องถูกลงโทษ ป.ป.ช.ต้องแข็งแกร่งในการทำสำนวนมากขึ้น

นายมีชัย กล่าวว่า ป.ป.ช.จังหวัด ยังอยู่ต่อไปแต่ไม่ให้มีหน้าที่ตรวจสอบ เพราะกรรมการไปนั่งในจังหวัดก็รู้จักกันหมด จึงเปลี่ยนให้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ส่วนการตรวจสอบให้เป็นหน้าที่ป.ป.ช.ภาค จะเป็นผู้แต่งตั้ง เนื่องจากการทุจริตในพื้นที่หรือในจังหวัดไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้นหากมีประเด็นร้องเรียนเรื่องทุจริตเกิดขึ้น ป.ป.ช.ส่วนกลางสามารถมอบให้หน่วยงานระดับภาคเข้าไปสอบสวนในพื้นที่ได้ ยอมรับว่าการทำกฎหมายนี้ยาก มันมีสองด้าน เรามุ่งเน้นปราบทุจริต แต่ก็ให้อำนาจมากไม่ได้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน