เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 19 ก.ย. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “อย่าให้เสียของ ประชาธิปไตย 99% และประชารัฐในระบอบรัฐประหาร 2557” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และนายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

นายพิชญ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ไทยติดอันดับที่ 4 ของโลกในการทำรัฐประหาร ซึ่งมักอ้างเหตุผลว่าเกิดทางตันทางการเมือง แต่การรัฐประหาร 2 ครั้งหลังจะเห็นว่าถูกวางอย่างเป็นระบบไว้ล่วงหน้า เวลาพูดถึงโรดแม็ปของทหารในรอบนี้ ก็เป็นโรดแม็ปที่ไม่อัพเดต ขณะนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อยู่ในอำนาจเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน อยู่ในอำนาจยาวนานลำดับที่ 2 ตั้งแต่มีการรัฐประหารในประเทศ

นายพิชญ์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเดือนมี.ค.-พ.ย.2561 ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ แต่เราไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนไปด้วยอภินิหารทางกฎหมาย หรือทางอำนาจอื่นๆ อีกหรือไม่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารในรอบนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการแปรสภาพไปสู่ระบอบใหม่ ไม่ใช่การกลับสู่ประชาธิปไตยตามที่เข้าใจกัน

นายพิชญ์ กล่าวว่า คณะรัฐประหารชุดนี้ มีคำว่า ประชารัฐ และประชาธิปไตย 99% หมายถึงครั้งนี้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเกี่ยวกับวาทกรรมหรือจิตวิทยามวลชน มีความพยายามเข้าไปที่แกนกลางของประชาธิปไตย มากกว่าให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องชั่วคราว คำว่าประชารัฐ กลายเป็นส่วนหนึ่งในทุกโครงการของรัฐบาลนี้ เป็นความร่วมมือของรัฐบาล ประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จุดสังเกต คือเพิ่มงบประมาณให้ระบบราชการเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เปลี่ยนชื่อโครงการจากประชานิยมเป็นประชารัฐ ไม่มีพื้นที่ให้นักการเมือง และระบบการเลือกตั้ง เป็นการสร้างโลกใหม่ที่ไม่ต้องมีนักการเมือง ประเทศจะอยู่ได้โดยรัฐ เอกชน และประชาชน

นายพิชญ์ กล่าวว่า สิ่งที่เราเห็นจึงมี 2 ประการ คือ การสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจการเมืองใหม่ และพัฒนาอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ ส่วนคำว่าประชาธิปไตย 99% มาจากคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ หลายครั้ง ส่วนที่หายไป 1% คือความเชื่อที่ว่าเสรีภาพนำไปสู่ความไม่มั่นคง ดังนั้น การกดเราด้วยกฎหมาย ปืน ศาลทหาร ถูกนับว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมาย

ด้านนายสุรชาติ กล่าวว่า เกิดคำถามว่าเหตุใดรัฐประหารครั้งนี้นานกว่าที่เราคิด สังคมไทยมีแนวโน้มถูกเรียกว่าเป็นสังคมรัฐประหาร ซึ่งสูตรทางการเมืองไม่มีความซับซ้อน เกิดปัญหาเมื่อไรก็ยึดอำนาจ สภาพที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น รัฐประหารไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน เพราะการเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการเลือกตั้ง และทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่สะดุดล้ม การเปลี่ยนผ่านในไทยคือเปลี่ยนแต่ไม่เคยผ่าน ระบอบการเลือกตั้งถูกโค่นล้มจนการเปลี่ยนผ่านเดินต่อไม่ได้

นายสุรชาติ กล่าวว่า วันนี้อำนาจของกองทัพเปราะบางมาก เพราะอยู่ในฐานอำนาจของคนชั้นกลาง และชนชั้นนำบางส่วน ตนอยากให้กองทัพออกจากการเมือง เราจึงจะสร้างกองทัพที่เป็นสถาบันของทหารอาชีพได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน