เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 23 ก.ย. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 7 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาสาธารณะ “โรดแมปไทยไทย ไกลแค่ไหน หรือใกล้เลือกตั้ง” โดยมีผู้ร่วมสัมมนาได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไหร่คงก็ตอบไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ได้ประกาศเรื่องของโรดแม็ปการเลือกตั้งมาตลอดคงมาบอกกันได้หลังกฎหมายลูกเสร็จ แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่ากฎหมายลูกจะเสร็จตอนไหนหรือจะเสร็จตามเวลาหรือไม่ ตนมองว่าความแน่นอนนั้นเป็นไปได้ยาก และถ้าจะอยู่ยาวอย่างไรก็ขอให้เอาให้ชัด เพราะผลกระทบจะเกี่ยวกับเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจ เมื่อเราอยู่ในระบอบการปกครองพิเศษแบบนี้ก็จะลำบากมากๆ การจะเลื่อนเลือกตั้งนั้นพรรคการเมืองไม่ได้เป็นผู้เดือดร้อน คนที่จะเดือนร้อนมากที่สุดคงเป็นประชาชน การแก้ปัญหาให้ประชาชนนั้นภายใต้การเมืองระหว่างการเมืองแบบเลือกตั้งกับการเมืองแบบพิเศษการแก้ปัญหาอย่างไรดีกว่า ทั้งนี้ฝ่ายการเมืองก็ต้องพิจารณาตนเองความผิดอาจจะมาหลายปัจจัย และถ้าปัญหามาจากฝ่ายการเมืองก็ควรที่จะรับผิดชอบ

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า การที่ตนมีชื่อติดโพลว่าน่าจับตามองจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยนั้น ตอนนี้เราไม่สามารถเปิดประชุมพรรคได้ โดยส่วนตัวนั้นที่มีโพลชี้ก็อาจจะเป็นการที่ตนทำงานมานาน จึงมีชื่อในโพล ส่วนประเด็นของพรรคตนมองว่าถือเป็นโอกาส ต่อกระแสท้าทายของพรรคที่จะพัฒนา พรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีรากฐานมาจากพรรคไทยรักไทย ในครั้งนี้มีปัญหาการเมืองเช่นกัน และถ้าปล่อยให้การเมืองอ่อนแอรัฐบาลก็จะอยู่ได้ไม่นาน เราจึงสร้างการเมืองที่เข้มแข็ง การสามารถตรวจสอบได้ พรรคเพื่อไทยก็ต้องปรับปรุง พัฒนา และปฏิรูปพรรคการเมืองเช่นกัน ทุกพรรคต้องปฏิรูปพรรคก่อน

ตนมองว่าเราต้องหาแนวทางก่อนการที่จะกำหนดหัวหน้าพรรค เรามาทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ละการอยู่ดีมีสุขของประชาชนได้ก่อน ดังนั้นเมื่อเปิดประชุมก็ค่อยมาพูดคุยกันว่าใครจะเป็นผู้นำพรรค ตนเชื่อว่าการสู้กันด้วยนโยบายเป็นสิ่งที่ดีสุด ดีกว่าไปสู้กันด้วยเงินทอง แต่การต่อสู้แบบนโยบายก็ถูกตีความว่าเป็นแนวประชานิยมกันไปเอง

“การเลือกตั้งนั้นจุดสำคัญคงเป็นก่อนการเลือกตั้ง ทุกวันนี้มีกติกาการเลือกตั้งเกิดขึ้นมากมาย ผู้ไปทำหน้าที่ไม่สามารถไปทำงานเพื่อส่วนร่วมได้เลย ตนคิดว่าฝ่ายการเมืองอาจจะทำงานเพื่อส่วนร่วมไม่ได้ ก็จะส่งผลไปยังประชาชนที่จะเป็นผู้เดือดร้อน เพราะคนที่เขาเลือกมาแล้วทำงานให้ไม่ได้ เช่น การช่วยงานของส.ส.และการกำหนดการใส่ชองงานบุญต่างๆ ซึ่งถ้าถามว่าพรรคการเมืองจะมีโอกาสที่จะความร่วมมือ กันหรือไม่นั้น เรื่องนี้ถ้าจะเกิดควรมีก่อนการเลือกตั้ง ส่วนหลังการเลือกตั้งก็ต้องมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และการจัดตั้งรัฐบาลนั้นไม่ได้มองว่าพรรคเพื่อไทยต้องเป็นรัฐบาลอย่างเดียวแต่มองว่าหลังเลือกตั้งการเมืองมันต้องจบ แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อะไรที่มาจากวิธีพิเศษเราไม่สนับสนุนแน่นอน” แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน