‘อนุทิน’ แจงใช้งบ 6,000 ล้าน ซื้อวัคซีนกันโควิด-19

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 พ.ย. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ให้จัดสรรงบประมาณ 6,049 ล้านบาท สำหรับการจองและจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 26 ล้านโดสจากบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด

โดยระบุว่า วงเงินดังกล่าวครอบคลุมทั้งเรื่องการจองและจัดซื้อวัคซีนรวมถึงการดำเนินงานต่างๆ และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ของกรมควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ตลอดจนมีเรื่องค่าเก็บรักษา ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายในการนำไปฉีดให้กับตัวบุคคล เพราะเวลาวัคซีนมาถึงเมืองไทยมันมาเป็นขวด จึงต้องมีค่าดำเนินการมากมาย สรุปว่าเงินงบประมาณจำนวนกว่า 6 พันล้านบาทนั้นครอบคลุมไปหมดแล้ว ไม่ใช่แค่ค่าของอย่างเดียว

เมื่อถามว่าจะพิจารณาในประเด็นการจัดหาวัคซีนประเภท mRna ด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ณ เวลานี้เข้าใจว่ามีหลายสถาบันก็ทำวัคซีนประเภท mRna อยู่ รวมไปถึงวัคซีนที่ทางสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขาได้วิจัยอยู่ แต่ที่เราได้จัดหาไปแล้วก็คือวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

เมื่อถามถึงกรณีที่ทางทีมงานบริษัทไฟเซอร์ได้มาพบปะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ นายอนุทินจะเข้าหารือด้วยหรือไม่ในประเด็นเรื่องการจัดหาวัคซีน นายอนุทิน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีก็ได้เรียกเข้าไปพบหารือเหมือนกัน แต่ตอนนี้ต้องขอชี้แจงก่อนว่า ณ เวลานี้ เราได้มีข้อตกลงร่วมกันกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในการร่วมลงทุน และพัฒนา ซึ่งสิ่งที่เราได้จากการร่วมลงทุนจัดหา และพัฒนาก็คือราคาอยู่บนหลักการ No Profit No Loss Principle หรือเป็นหลักการการไม่แสวงหาผลกำไร โดยเขาจะขายในราคาต้นทุน ในราคาต่ำ โดยอยู่ที่ราคาประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (151 บาท) ต่อหลอด ถ้าเทียบกับวัคซีนจากบริษัทอื่นๆ อาทิ จากไฟเซฮร์ หรือจากบริษัทซีโนแว็กก็ปรากฏว่ามันยังมีราคาที่สูงอยู่ ซึ่งก็เข้าได้ว่าที่มันราคาสูง เพราะเราไม่ได้ไปร่วมอะไรกับเขา

“ถ้าหากเราสามารถครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงได้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปจองจากที่อื่น และในเรื่องวัคซีน mRna เราก็ยังสนับสนุนอยู่ ทั้งการทำงานของคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ เขาก็ยังดำเนินการอยู่ ซึ่งเรายังคงจะมีช่องทางในการจัดหาวัคซีนตรงนี้ด้วย” นายอนุทินกล่าวและย้ำว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องไปจองวัคซีนจากบริษัทอื่นๆ

เมื่อถามถึงความจำเป็นจะต้องจัดทำตู้เก็บความเย็นวัคซีนใหม่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ของแอสตร้าเซนเนก้านั้น ไม่จำเป็นต้องทำตู้เย็นอยู่ที่ -20 องศาเซลเซียส หรือที่ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งจากที่ได้รับรายงานจากทีมแพทย์มานั้นก็ได้ข้อสรุปว่าตู้เย็นธรรมดา ก็สามารถจัดเก็บวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน