เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในฐานะรองประธานอนุกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า หลักการของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังคงเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เราแถลงให้ทราบตอนที่ไปประชุมนอกสถานที่ที่ จ.ระยอง โดยล่าสุดเราได้ปรึกษากันถึงสูตรการคำนวณจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งอนุกรรมการได้เทียบการคิดเสร็จแล้วในเบื้องต้นแต่ยังต้องตรวจสอบให้รอบคอบอีกครั้งว่ามีอะไรที่ผิดพลาดหรือไม่
นอกจากนี้ในส่วนของหลักการต่างๆ อนุกรรมการได้เชิญบุคคลภายนอกที่มีความรู้มาให้ข้อคิดเห็นอยู่ตลอด เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เชื่อว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้กรธ.จะพิจารณาได้ทันตามกรอบเวลาที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ได้บอกไว้ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่กรธ.จะยื้อออกไป เพราะกรธ.เองก็ต้องปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ยืนยันว่าการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จทันตามกรอบเวลา 240 วันหรือในวันที่ 1 ธ.ค.ว่า เชื่อว่า กรธ.อาจจะเขียนกฎหมายเสร็จแล้วก็เป็นได้ เพียงแต่ยื้อเวลา หวังใช้เวลาบริหารจัดการแบบเต็มเวลา รวมทั้งเพื่อรอจังหวะให้ผู้มีอำนาจสั่งมาว่าอยากให้ส่ง สนช.พิจารณาในช่วงใด
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องจัดทำกฎหมายขึ้นใหม่ หรือจะนำเอาร่างเดิมมาปรับปรุงก็ได้ เชื่อว่ารายละเอียดไม่แตกต่างกัน กรธ.สามารถนำเอาของเดิมมาปรับปรุงได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา แต่ไม่รู้ว่าจะดึงให้การเลือกตั้งช้าออกไปอีกถึงไหน ดังนั้น กรธ.อย่าทำเรื่องง่ายๆ ให้เป็นเรื่องยากเลย หากท่านจะเขียนกฎหมายลูกให้เสร็จเร็วก็สามารถทำได้ และเมื่อครบกำหนดที่ กรธ.ต้องส่งร่างให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณานั้น ทาง สนช.จะมีเวลาพิจารณาอีก 60 วันตามกรอบของรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าคงใช้เวลาพิจารณากันยืดยาวจนครบตามกรอบ แต่ยิ่งพิจารณากฎหมายลูกล่าช้า จะทำให้การเลือกตั้งตามโรดแม็ปยิ่งล้าช้าออกไป โอกาสของประเทศก็ยิ่งเสียหายเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นอยากให้ช้าหรือเร็วเชื่อว่าผู้มีอำนาจสั่งการได้หมด
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการคลอดกฎหมายลูกให้เป็นไปตามโรดเเม็ปเลือกตั้งว่า พักนี้ตนไม่สนใจเรื่องโรดแม็ป เราไปให้ความสำคัญกับคำพูดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มากไป จนดูเหมือนคำพูดนายกฯ สำคัญมากกว่ารัฐธรรมนูญ เราอย่าไปบิดเบือนรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งเมื่อไหร่ไม่ใช่อยู่ที่คำพูดนายกฯ แต่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ ถ้าถามว่าเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแม็ปไหม มันเหมือนไปถามว่านายกฯ จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไหม แปลความว่าถ้าไม่มีเลือกตั้งตามโรดแม็ปคือมีคนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่ควรไปเสวนากับคนที่หลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญ คนเหล่านี้ก็ไม่ควรเสวนา เเต่ถ้ามีคนบอกว่าถ้ากฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสี่ฉบับแรกเสร็จเลือกตั้งได้เลยในร้อยห้าสิบวัน แต่ว่าตอนหลังเขาบอกว่าทำสี่ฉบับดังกล่าวทีหลังสุด ไม่ได้ทำก่อน เท่ากับรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับไปแล้วหนึ่งมาตรา ซึ่งตนไม่รู้จะวิเคราะห์อย่างไรได้อีก

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน