เมื่อเวลา 13:00 น. วันที่ 10 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “คนจนในบริบทที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน” ร่วมเสวนาโดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.สมชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ย่อมทำให้ ความยากจน คนจน เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ไม่มีความจนและคนจนที่คงที่ หากไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมเราก็จะไม่เข้าใจความยากจนต่อคนจน จะเห็นได้ว่าสังคมไทยลดทอนปัญหาสังคมให้กลายเป็นปัญหาของประชาชน ฉะนั้นเราต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบท และ สังคมเมือง ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อที่เราจะได้วางคนจนให้ถูกในความเป็นไทยของเรา

ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวต่อว่า จากที่ทำงานวิจัยมา จะพบว่าสังคมชาวนาได้หมดไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามีคนทำนาแต่เป็นผู้ประกอบการแทน อันนี้คืองานที่ค้นพบ จะเห็นได้ว่าคนจนในสังคมผู้ประกอบการ หนักหน่วงมากกว่าในสังคมชาวนา เพราะเขาจะต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง เขาไม่สามารถที่จะช่วยเหลือหรือดึงเอาเครือญาติแบบสังคมชาวนามาช่วยได้ จากสถิติที่ไปทำมาใน 27 พื้นที่ในชนบท จะพบว่าคนจนลดลง แต่ขณะเดียวกันคนจนที่ลดลงนี้มันจะมีสัดส่วนของคนที่เพิ่มมากขึ้นคือคนเกือบจน ส่วนคนจนที่เหลืออยู่มันจนมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ตนคิดว่าการผลิตแบบผู้ประกอบการที่เข้ามาแทนสังคมชาวนา มันทำให้ตัวความยากจนลดลง ก็คือการเกิดคนเกือบจนนั้นเอง

“การเข้าสู่ความยากจนหรือการดำรงอยู่ในความยากจน มันมีส่วนสำหรับ 3 อย่างคือ 1 ความล้มเหลวในการถักสานเครือข่าย 2 การสูญเสียศักยภาพในการปรับตัว เช่นคิดอะไรบางอย่างได้ก็หยุดแค่นั้น 3 อุบัติการณ์เฉพาะหน้า การออกจากความยากจนทั้งหมดก็คือการสามารถผลิตตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการ” ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าว

ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวต่อว่า สำหรับสังคมเมืองมันซับซ้อนมากขึ้น เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับสังคมเมืองเลย วันนี้เราจะพบว่าสลัมเปลี่ยนไปหมดแล้ว ทำให้เราไม่รู้ได้ว่าคนจนเมืองคือใคร ผมคิดว่ามันซ้อนทับกับอยู่ 2 อย่าง คือชีวิตใหม่ กับชีวิตของการผลิตไม่เป็นทางการ คือกลุ่มคนที่อยู่ในระดับของคนเกือบจน ดังนั้นคนจนและความยากจน จึงสัมพันธ์และเลื่อนไหล ในชนบทที่ดินไม่ใช่เงื่อนไขหลักอย่างเดิม ในเมืองความมั่นคงของความยืดหยุ่นในการผลิตไม่เป็นทางการ เราอาจจะจับ คนจน ได้ในช่วงเวลาหนึ่งแล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง

ด้าน รศ.ดร.ประภาส กล่าวว่า คนจนในมิติการมองต่างๆ แบ่งเป็นคนจนตามเกณฑ์ ความยากจนมองจากมิติเชิงโครงสร้าง โดยคนจนในโครงสร้างของระบบการผลิตที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เกษตรกร ชาวนาชาวไร่ กรรมกร เป็นต้น เป็นปัญหาการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ราคาพืชผล ที่ดินทำกิน ค่าจ้างแรงงาน นอกจากนี้คนจนอำนาจ จนโอกาส จนเพราะการพัฒนา โครงการขนาดใหญ่ การถูกแย่งชิง ฐานทรัพยากรของคนจน ขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ และคนจนในลักษณะกลุ่มคนที่ตกเป็นเบี้ยล่าง เป็นกลุ่มคนในสังคมที่ถูกกดทับ ด้อยค่า ถูกเพิกเฉย มองไม่เห็น ถูกทำให้เป็นคนอื่น ซึ่งปัจจุบันนี้ คนจนลดลง และคนเกือบจนเพิ่มขึ้น

“คนเกือบจน หมายถึงประชากรที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 20% ทั้งนี้เมื่อคนจน รวมกับ คนเกือบจน มีจำนวนที่ลดลงจาก 14.0 ล้านคน หรือร้อยละ 21.0 ของประชากรทั้งหมดในปี 2557 เหลือ 10.4 ล้านคน หรือร้อยละ 15.5 ของประชากรทั้งหมดในปี 2558 นอกจากนี้ ในปี 2559 น่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามตัวเลขคนจนที่เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคน ” รศ.ดร.ประภาส กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน