เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงการรื้อคดีที่ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ภายหลังประกาศใช้พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ว่า ที่ประชุมป.ป.ช.ได้มอบให้สำนักคดีของป.ป.ช. ไปพิจารณาคดีเก่าที่ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องนายทักษิณ แล้วศาลได้ระงับคดีชั่วคราว 3 คดี โดยเป็นคดีที่เกี่ยวกับนายทักษิณ 2 คดี และคดีเกี่ยวกับภาคเอกชนอีก 1 คดี

ประกอบด้วย 1.กรณีปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้รัฐบาบเมียนมา วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป 2.กรณีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว หรือคดีหวยบนดิน 3.เป็นการเอาผิดกับภาคเอกชนในคดีจัดซื้อรถดับเพลิง ของ กทม. ทั้งนี้ คาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ในไม่ช้านี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า หลังจากนี้ทุกเรื่องที่ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องเอง จะมอบให้สำนักคดีเป็นฝ่ายดำเนินการแทนทนาย เนื่องจากขณะนี้สำนักคดีของป.ป.ช.มีความพร้อมที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว เมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.เห็นว่าส่งฟ้องเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องจ้างทนาย

เมื่อถามว่ามีการวิจารณ์ว่าพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีความอาญาฯฉบับใหม่นี้จ้องเอาผิดนายทักษิณ ย้อนหลัง พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เมื่อกฎหมายประกาศใช้แล้ว เราต้องปฏิบัติตามเพราะกว่าจะออกเป็นกฎหมายได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองหลายขั้นตอน และไม่คิดว่ากฎหมายขณะนี้มุ่งเอาผิดเฉพาะนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯเท่านั้น แต่อาจเป็นเพราะช่วงนี้มีคดีเกี่ยวกับทั้งสองคนนี้เข้ามา

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวถึงการส่งข้อเสนอแนะร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้กรธ.ว่า ที่ประชุมป.ป.ช.ในวันนี้ได้พิจารณาเรื่องนี้เป็นครั้งที่สอง ก่อนเสนอความเห็นกลับไปที่กรธ. ซึ่งมีหลายประเด็นที่ป.ป.ช.กังวล โดยเฉพาะการใช้อำนาจของป.ป.ช.ที่แตกต่างจากอดีต และการกำหนดกรอบเวลาที่เคร่งครัด ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการไต่สวน เพราะแต่ละคดีย่อมมีกรอบเวลาพิจารณาที่ไม่เหมือนกัน

ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า แม้การพิจารณาคดีจะเสร็จตามกรอบเวลา แต่กังวลเรื่องคุณภาพในขั้นตอนการไต่สวน ยิ่งในคดีทุจริต การสืบพยานหลักฐานต่างๆ เป็นเรื่องยาก ซึ่งที่ผ่านมาป.ป.ช.มีกรอบเวลาพิจารณาคดีตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่กรอบที่กรธ.กำหนดนั้น อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการไต่สวนคดีที่จะส่งต่อไปยังอัยการสูงสุดและศาล โดยเจ้าหน้าที่อาจกังวลเรื่องกรอบเวลา เพราะหากทำไม่ทัน เขาต้องรับโทษ ดังนั้น แทนที่จะเป็นประโยชน์ แต่อาจเป็นโทษได้เหมือนกัน

“ร่างดังกล่าวเป็นเพียงร่างแรกที่กรธ.ส่งมา และเราอยากไปชี้แจงกับกรธ.ก่อนจะส่งให้สนช. แต่ในขั้นแปรญัตติของสนช. จะต้องมีคนของป.ป.ช.เข้าไปอยู่ด้วย โดยจะใช้เวทีนี้ ชี้แจงเรื่องต่างๆ และอยากให้กรธ.ช่วยรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติ เราไม่ต้องการอะไรนอกจากการทำงานอย่างมืออาชีพ ให้มีประสิทธิภาพสมกับความคาดหวังของประชาชน และหลายเรื่องที่กรธ.กำหนดในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.นั้น อาจขัดรัฐธรรมนูญ” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ส่วนคุณสมบัติของกรรมการป.ป.ช.นั้น ไม่มีการโต้แย้งเพราะเห็นด้วยที่จะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทุกคนเห็นว่าได้มาตามรัฐธรรมนูญ เมื่อกฎหมายเขียนอย่างไรเราก็ว่าอย่างนั้น เพราะประเด็นที่ป.ป.ช.กังวลคือเรื่องการทำงานที่มีประสิทธิภาพให้สมกับที่มีรัฐธรรมนูญปราบโกง

เมื่อถามว่ากรธ.เห็นว่าป.ป.ช.คงไม่สามารถทำงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านทุจริตของสหประชาชาติได้ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ถ้าทำไม่ได้ เราคงไม่เสนอ คงไม่มีหน่วยงานไหนที่คิดว่าตัวเองทำไม่ได้แล้วเสนออยากทำ ขณะที่การทำงานของป.ป.ช.ก็ถูกตรวจสอบเช่นกัน หากเราทำไม่ได้ก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติ

ด้านพล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า มีหลายประเด็นที่ ป.ป.ช.จะเสนอความเห็นเพิ่มเติม ทั้งการไต่สวนเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ รวมถึงวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ที่เห็นว่ายังขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นจะมี 4 ประเด็นหลัก เช่น ส่อว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ขัดต่อแนวบรรทัดฐานที่เคยวินิจฉัยไว้ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน