นักการเมืองจัณฑาล

ใบตองแห้ง

ลุงตู่เรียกร้องให้สังคมประณามนักการเมืองฉวยโอกาส หาเสียงช่วงพระราชพิธี แหม่ ชาวบ้านเขาขำกลิ้งอยู่แล้วครับ อย่างที่ลุงป้อมย้อน “ผิดพลาดอะไร ตัวหนังสือตัวเบ้อเร่อ”

เพียงแต่ท่านมีอำนาจใหญ่โต แล้วยังออกมากระตุ้นสังคมบดขยี้ ก็เลยมีคำถามว่า “เยอะเกินไปมั้ย” เพราะสังคมใช้วิจารณญาณได้อยู่แล้ว อย่าให้ชาวบ้านรู้สึกว่าฉวยโอกาสซ้ำเติมกันทางการเมืองจะดีกว่า

ว่าตามเนื้อผ้า นักการเมืองลงทุนลงแรงช่วยกิจกรรมสาธารณะ ไม่ว่าใครไม่ว่ากิจกรรมไหน มันก็หาเสียงทั้งนั้นล่ะ อยู่ที่จะวางตัวอย่างไรให้เนียน ขึ้นรถถ่ายภาพให้คนเห็นเป็นข่าวก็หาเสียง แต่ทะเล่อทะล่าติดตัวหนังสือใหญ่เบ้อเร่อ ผิดกาลเทศะก็รับไป อนาคตที่คิดการใหญ่อาจเป็นหมัน คู่แข่งในพรรคป้องปากหัวเราะกันคิกคัก คุณเธอลำบากแน่

เห็นไหม เป็นนักการเมืองไม่ง่ายหรอก ต้องถูกจับจ้อง ทุกอย่าง ต้องวางตัวให้เหมาะสมทุกกิริยา เพราะต้องให้ประชาชนตัดสิน พลาดพลั้งก็เสื่อม ถูกด่าก็ต้องทน ขอโทษขอขมา ไม่เหมือนมาจากแต่งตั้งหรือตั้งตัวเอง ง่ายกว่า ไม่พอใจก็ด่าได้ โมโหโกรธา ระบายอารมณ์ ไม่ต้องแคร์ใคร

บางทีหาเสียงกันเห็นๆ ก็ไม่ยักถูกครหา ทั้งที่ใช้งบหลวง เช่นไปสัญจร ราชการทำป้ายเชียร์ก็ไม่ใช่หาเสียง

สังคมไทยวันนี้ยังเกลียดกลัวนักการเมือง ทั้งที่นักการเมืองไม่มีอำนาจ และจะไม่มีไปอีกนาน พอจะมีเลือกตั้งก็ทำโพลว่า หลังเลือกตั้งนักการเมืองยังทุจริตและขัดแย้งกันเหมือนเดิม นักการเมืองไม่ปฏิรูปตัวเอง เป็นพรรครัฐบาลก็ทุจริต เป็นพรรคฝ่ายค้านก็ไร้เหตุผล ฯลฯ ทั้งๆ ที่เห็นชัดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ปูทางนายกฯ คนนอก ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน 6 ผบ.เหล่าทัพนั่งควบทั้ง ส.ว. และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระก็เพิ่มอำนาจไว้เสร็จสรรพ นักการเมืองเป็นได้แค่ไม้ประดับ ทุจริตไม่ได้หรอกครับ ถ้านายกฯ คนนอกไม่เจือจาน

ปัดโธ่ อุตส่าห์ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ริบอำนาจจากเลือกตั้งเกือบหมด ยังเกลียดกลัวนักการเมือง วันๆ เอาแต่ด่าทอคนไทยเลือกผู้นำผิด ก็เลยต้องอยู่กับผู้นำที่ไม่ได้เลือก

ถามจริง ขณะนี้เราอยู่ในช่วงหาเสียงหรือยัง อยู่แล้วครับ เพียงแต่มันไม่ใช่การแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง มันเป็นการหาเสียงแข่งกันระหว่างอำนาจจากแต่งตั้ง กับอำนาจจากประชาชนเลือกตั้ง โดยฝ่ายหลังไม่มีทางสู้

3-4 ปีมานี้คือความพยายามหาเสียงว่า อำนาจที่ประชาชนไม่ได้เลือกมา แก้ปัญหาประเทศได้ดีกว่า ดูแลประชาชนได้ดีกว่า เห็นไหม ไม่ต้องมีรถเมล์ฟรีรถไฟฟรี เราก็มีบัตรคนจน ไม่ต้องกู้ 2 ล้านล้านก็สามารถสร้างรถไฟจีน อำนาจปึกแผ่นสามารถวางโครงสร้างเศรษฐกิจ มุ่งสู่ 4.0 EEC วางยุทธศาสตร์ 20 ปี ฉะนั้น ประชาชนไม่ต้องมีเสรี ไม่ต้องมีอำนาจผ่าน เลือกตั้ง ก็สามารถอยู่ดีกินดี

เพียงแต่อยู่ในโลกสมัยนี้ จำเป็นต้องมีเลือกตั้ง ก็เลยวางระบบเลือกตั้งแบบไม่ให้มีอำนาจ พร้อมกับตั้งคำถาม เลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ปลุกความเกลียดกลัวนักการเมืองกันต่อไป

มิตรสหายบางท่าน เปรียบเปรยว่าสังคมการเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญ 2560 เสมือนมีชนชั้นวรรณะ โดยวรรณะต่ำสุดคือนักการเมือง ซึ่งเปรียบได้กับ “ซูเปอร์จัณฑาล” ชั่วซะไม่มี ถูกตีตราตั้งแต่แสดงเจตจำนงสมัครรับเลือกตั้ง คนดีๆ เขาไม่เล่นการเมืองกันหรอก ฉะนั้นต้องถูกตรวจสอบย้อนหลัง ตั้งกฎเกณฑ์ข้อห้ามแบบทำไรนิดก็เสี่ยงผิด ขาข้างหนึ่งแหย่เข้าคุกตั้งแต่คิดเล่นการเมือง

ถัดขึ้นมาหน่อย วรรณะจัณฑาล ก็คือชาวบ้านที่เลือกนักการเมือง หวังพึ่งนักการเมือง ให้ช่วยแบ่งปันอำนาจกระจายทรัพยากร ถ้าไม่ถูกตีตราว่าโง่ ก็ขายเสียง หรือหวังผลประโยชน์

ขณะที่ข้าราชการ คนชั้นกลางในเมือง สูงขึ้นมาอีกชั้น มีสถานะได้เปรียบทางเศรษฐกิจสังคม จนสามารถดัดตนเป็นคนดี รักโลกรักป่ารักเต่ารักหมา เชื่อว่าตนเองอยู่ในโลกสวยสังคมคุณธรรม มีแต่นักการเมืองและการเลือกตั้งน่าชิงชังรังเกียจ

ส่วนที่อยู่ระดับบนคือ “ซูเปอร์คนดี” ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์จากการไต่เต้าแต่งตั้ง ในกองทัพ ในระบบราชการ ในกระบวน การยุติธรรม ซึ่งมักจะเป็น “คนนอก” เข้ามาสะด๊วบอำนาจโดยไม่ถูกตรวจสอบ หนำซ้ำ องค์กรตรวจสอบ “สเป๊กมหาเทพ” อย่างที่ กกต.สมชัยแซว ก็มาจากแวดวงเดียวกัน

นี่คือการเมืองในช่วง 3-4 ปีนี้และอีก 4-5 ปีข้างหน้า การต่อสู้ระหว่างนักการเมืองจากเลือกตั้ง กับนักการเมืองที่ได้อำนาจโดยไม่ต้องเลือกตั้ง แล้วมาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งอำนาจบริหาร อำนาจออกกฎหมาย อำนาจตรวจสอบ อำนาจตัดสิน โดยอ้างศีลธรรม

ก็อยู่ที่ประชาชนจะเข้าใจไหม ว่าอำนาจของตัวเองอยู่ ตรงไหน และถึงที่สุดแล้ว ใครเป็นนักการเมืองซูเปอร์จัณฑาลกันแน่

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน