เมื่อวันที่ 17 พ.ย. เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) www.ect.go.th เผยแพร่หนังสือของกกต. ที่ตอบกลับคำถามของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ต่อกรณีขอความชัดเจนในการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง

โดยกกต. ได้ตอบยืนยันกับพรรคเพื่อไทยว่า การปฏิบัติของพรรคที่มีกรอบเวลากำหนดตามมาตรา 141 เช่น การยื่นเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรค การจัดให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท การประชุมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับพรรค จัดทำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง ถือเป็นการดำเนินกิจการในทางการเมือง จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินการ เมื่อประกาศคสช.ฉบับที่ 57/2557 ยังใช้บังคับอยู่ จึงยังไม่อาจดำเนินการได้

ส่วนการคัดเลือกผู้สมัครส.ส. หรือไพรมารี่โหวตในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ใช้บังคับ หากพรรคใดได้ตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด พรรคนั้นสามารถส่งผู้สมัครได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น เนื่องจากบทเฉพาะกาลมาตรา 145 ยกเว้นไว้ให้ โดยสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมคัดเลือกผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้น แต่การเลือกตั้งหลังจากนั้น พรรคต้องดำเนินการตามมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่าถ้าจะส่งผู้สมัคร พรรคต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น โดยสาขาพรรคจะมีเขตพื้นที่และรับผิดชอบส่งผู้สมัครได้เฉพาะในเขตเลือกตั้งที่เป็นที่ตั้งสาขาพรรคนั้นเท่านั้น

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ กกต.ได้ตอบกลับว่าการที่พรรคจะกำหนดเรื่อง การใช้สิทธิเลือกตั้งผู้สมัครส.ส.ของสมาชิกพรรคจะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตามวัน เวลา สถานที่ที่คณะกรรมการสรรหากำหนดก่อนวันที่หัวหน้าสาขาพรรคประจำจังหวัดจัดประชุมเพื่อลงคะแนนผู้สมัคร ไว้ในข้อบังคับพรรคสามารถทำได้

ส่วนสมาชิกพรรคที่ไม่ได้จ่ายค่าบำรุงพรรคประจำปี ก็มีสิทธิลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกผู้สมัครได้ เนื่องจากตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้กำหนดลักษณะของสมาชิกพรรคไว้ 2 ลักษณะคือ 1 สมาชิกพรรคที่สมัครหลังกฎหมายนี้ใช้บังคับ ตามมาตรา 27 ต้องชำระค่าบำรุงพรรคก่อน จึงเป็นสมาชิกพรรคได้

2.สมาชิกพรรคก่อนกฎหมายใช้บังคับ ตามมาตรา 141(5) กฎหมายรับรองการเป็นสมาชิกพรรคของพรรค ตามมาตรา 140 ไว้ แม้จะอยู่ใระยะเวลา 4 ปี ถ้ายังไม่ชำระค่าบำรุงพรรค ก็ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ จึงมีสิทธิเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทั้ง 2 ลักษณะ และการจะจัดประชุมเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตหรือแบบบัญชีรายชื่อ ก็ไม่จำเป็นต้องจัดพร้อมกันในวันเวลาเดียวกันก็ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวลงนาม โดยพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการกกต. รักษาการแทนเลขาธิการกกต. ซึ่งก่อนหน้านี้กกต.ได้พิจารณาหนังสือขอหารือดังกล่าวของ 2 พรรคในการประชุมกกต.วันที่ 13 พ.ย. และเห็นชอบให้รักษาการเลขาธิการกกต. มีหนังสือตอบกลับไปยัง 2 พรรค และเผยแพร่ลงเว็บไซด์ของสำนักงาน เพื่อที่พรรคอื่นๆ มีข้อสังสัยในการปฏิบัติลักษณะเดียวกันก็จะได้เข้าไปศึกษา โดยกกต.ได้ส่งหนังสือตอบถึงพรรคแล้วเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน