เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย 6 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นว่า ได้มอบให้กมธ.ท้องถิ่นดูก่อน ยังพูดอะไรชัดเจนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะส่งกฎหมายมาเมื่อใด ทราบว่ากฤษฎีกายกร่างตัวกฎหมายแล้ว ส่วนเรื่องกรอบเวลา ไม่ได้กำหนดไว้ชัด ขึ้นกับนโยบายรัฐบาลว่าต้องการเร็วแค่ไหน ปกติกฎหมายทั่วไปก็ 2-3 เดือน สมมติส่งมา 6 ฉบับ เราต้องพิจารณาว่าจะพิจารณาทั้ง 6 ฉบับ หรือจะแยกกมธ. กฎหมายไหนมีความสำคัญ ก็อาจต้องแยกกมธ. ตนยังไม่เห็นรายละเอียด

นายพรเพชร กล่าวว่า เท่าที่ฟังหลักการไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมาก มีปัญหาตรงไหนก็แก้ตรงนั้น ถ้ามันไม่มีประเด็น เหมือนของเดิม มันก็เร็ว ส่วนข้อสังเกตว่าหากกฎหมายท้องถิ่นออกมาล่าช้า จะส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่นั้น เลือกตั้งใหญ่กับกฎหมายท้องถิ่น ตนยังไม่ทราบไทม์ไลน์ที่ชัดเจน เท่าที่ฟังรัฐบาลอยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน เพื่อทดลอง ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเลือกระดับไหน จะเลือกทั้งหมดเลยหรือไม่ สนช.ก็ยังไม่เคลียร์ ต้องรอดู

เมื่อถามถึงการพิจารณากฎหมายลูก นายพรเพชร กล่าวว่า มาถึงโค้งสุด้ทาย วันที่ 28 พ.ย.นี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่ง 2 ฉบับสุดท้ายให้สนช.คือ กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.กับกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ซึ่งจะนำเข้าสู่วาระการพิจารณาในวันที่ 30 พ.ย. เท่าที่เห็นเนื้อหา ทั้ง 2 ฉบับมีหลักการแตกต่างกับกฎหมายฉบับที่ผ่านมา โดยการเลือกตั้ง ส.ส. จะใช้บัตรใบเดียว นับคะแนนทั้งส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วน ส.ว.ก็มีทั้งเลือกไขว้ ที่กำหนดไว้ในบทหลักและบทเฉพาะกาล รวมถึงส่วนที่เกี่ยวกับการสรรหาโดยคสช. ซึ่งไม่มีปัญหา

ประธานสนช. กล่าวว่า ทั้งนี้ ต้องดูให้ดีว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือขัดหลักการของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากคนที่จ้องดูอยู่เห็นว่าไม่ชอบมาพากล อาจนำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากทำให้เรียบร้อยจะดีกว่า ส่วนที่กรธ.เสนอให้ตั้งกมธ.คณะเดียวกันนั้น สนช.จะตั้งแยกคณะกัน เพราะจะมีประสิทธิภาพดีกว่า โดยฝ่ายประธานและเลขาฯของกมธ. 2 คณะจะคุยกันตลอด ส่วนจะเชิญฝ่ายการเมืองมาร่วมแสดงความคิดเห็นหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของกมธ. เขาอาจจะเชิญมาก็ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน