เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่รัฐสภา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า กมธ.ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วและจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 23 พ.ย.นี้ โดยกมธ.ได้แก้ไขเนื้อหาในบทเฉพาะกาล คือกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามาดำรงตำแหน่งก่อนมีรัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่ต่อไป แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ตุลาการ 4 คนที่ยังเหลือวาระการดำรงตำแหน่ง กมธ.มีมติเสียงข้างมากให้ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ

นายสมคิด กล่าวว่า 2.ตุลาการ 5 คน ที่เดิมต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะหมดวาระ แต่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งตามาตรา 44 ของหัวหน้าคสช. ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ซึ่งในส่วนนี้กมธ.มีมติเสียงข้างมากให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปเช่นกัน แต่ให้อยู่จนกว่าจะมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ซึ่งการให้ตุลาการ 4 คนอยู่ต่อจนครบวาระโดยไม่ดูคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะเข้ามาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงมีคุณสมบัติครบทุกอย่าง อีกทั้งยังเป็นผู้พิพากษา และศาลไม่ใช่องค์กรอิสระ ถ้าเอาศาลพ้นจากตำแหน่งทันที จะเป็นเรื่องใหญ่มาก ต่างประเทศจะวิจารณ์ทันที เพราะศาลต้องมีอิสระ ส่วนตุลาการอีก 5 คน จะอยู่ในตำแหน่งจนถึงการสรรหาใหม่เท่านั้น

นายสมคิด กล่าวว่า แม้ที่มาของตุลาการบางคนจะไม่ได้มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือศาลปกครอง แต่องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากศาลฎีกาหรือศาลปกครองเท่านั้น ยังมาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ด้วย เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ถูกเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังนั้น การปลดเขาออกจากตำแหน่งย่อมเท่ากับปลดศาลและเอาศาลออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

“ขอย้ำว่ากรณีนี้ไม่เหมือนการเซ็ตซีโร่องค์กรอื่น เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่อยู่ในหมวดว่าด้วยศาลในรัฐธรรมนูญ ไม่เคยเป็นองค์กรอิสระ” นายสมคิด กล่าว

เมื่อถามว่าในร่างฉบับนี้ห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเด็ดขาดใช่หรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ในกฎหมายไม่มีเรื่องนี้ ในอดีตสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนวิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลปกครอง แต่ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นมาตลอดคือ การละเมิดอำนาจศาล ที่ผ่านมาศาลฎีกาและศาลปกครองมีอำนาจตัดสินคดีคนละเมิดอำนาจศาล แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มี

นายสมคิด กล่าวว่า ต่อมากรธ. กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสินคดีคนละเมิดอำนาจศาล ซึ่งคดีละเมิดอำนาจศาล ปกติไม่ได้ใช้กับกรณีการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาล แต่ใช้กับกรณีอย่างการปิดล้อมศาลเพื่อไม่ให้ศาลเข้าไปนั่งพิจารณาคดี การวิจารณ์คำพิพากษาศาลทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน