เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายวันชาติ สันติกุญชร อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) กล่าวถึงการยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ให้พิจารณาคดีต่างๆ ในศาลต่อไปในคดีที่ไม่มีตัวจำเลยเพราะหลบหนีหลังถูกออกหมายจับว่า ล่าสุดที่ตรวจสอบคดีที่อสส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กลุ่มนักการเมือง , ข้าราชการ และเอกชนรวม 27 ราย ร่วมทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)นั้น มีจำเลยที่หลบหนีระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาฯ 2 คน คือ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 และนายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16

นายวันชาติ กล่าวว่า ทราบจากคณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบคดีระบายข้าวจีทูจีว่า กำลังจะเสนออสส. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯด้วยเช่นกัน ซึ่งอัยการได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 เช่นเดียวกับคดีของนายทักษิณ ชินวัตร

นายกิตินันท์ ธัชประมุข อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน หนึ่งในคณะทำงานอัยการรับผิดชอบจำนำข้าวและระบายข้าวรัฐต่อรัฐ กล่าวถึงการพิจารณาอุทธรณ์ระบายข้าวจีทูจีว่า หลังจากคณะทำงานอัยการเสนอความเห็นทางคดี ต่อนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อสส.แล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอสส.เห็นชอบการยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว คณะทำงานอัยการจึงยื่นคำอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาฯแล้ว หลังจากนี้ศาลจะส่งคำอุทธรณ์ให้จำเลยทำคำแก้อุทธรณ์ต่อไป

นายกิตินันท์ กล่าวว่า อัยการได้ยื่นอุทธรณ์คดีในส่วนของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 2 (จำคุก 42 ปี) ซึ่งอัยการเห็นว่าการกระทำของนายบุญทรง ยังมีความผิดที่มีส่วนร่วมอนุมัติแก้ไขสัญญาระบายข้าวฉบับที่ 1 ที่มีการแก้ไขสาระสำคัญหลายครั้ง แม้สัญญาระบายข้าวจะเริ่มมาก่อนที่นายบุญทรง จะรับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ จึงให้ศาลพิพากษาลงโทษเพิ่มเติมในส่วนนี้ด้วยจากโทษที่ได้ตัดสินไว้แล้ว

นายกิตินันท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังอุทธรณ์ส่วนของน.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง กับน.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 11-12 (จำคุก 16 ปี) ผู้บริหารบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งอัยการเห็นว่าที่ศาลลงโทษไว้นั้นเบาไป เนื่องจากอัตราโทษเท่ากับกลุ่มจำเลยที่นำส่งเอกสารการขึ้นแคชเชียร์ โดยเจตนาของจำเลยทั้งสองชัดเจนว่าร่วมกระทำผิดสั่งดำเนินการ

อุทธรณ์อีกกลุ่ม คือเอกชนที่เป็นโรงสีข้าว จำเลยที่ 22-28 ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร โดยนายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ , นายทวี อาจสมรรถ , บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัดโดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ , บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด โดยนายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการ , นายปกรณ์ ลีศิริกุล , บริษัท เจียเม้ง จำกัดโดยนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการ และนางประพิศ มานะธัญญา ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องไป

อัยการยังยื่นอุทธรณ์ในส่วนของอำนาจเรียกร้องสิทธิค่าเสียหายจากจำเลยในฟ้องคดีอาญานี้ ซึ่งศาลได้ยกฟ้องในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ , กรมการค้าต่างประเทศ ,องค์การคลังสินค้า (อคส.) , องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)ด้วย โดยก่อนหน้านี้ศาลพิพากษาให้เฉพาะกระทรวงการคลังเท่านั้นที่มีอำนาจยื่นคำร้อง

นายกิตินันท์ กล่าวว่า ส่วนนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1 (จำคุก 36 ปี), นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4 (จำคุก 40 ปี) , นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และอดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5 (จำคุก 32 ปี) , นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ และอดีตผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6 (จำคุก 24 ปี) , นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 14 (จำคุก 48 ปี) และน.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21 บุตรสาวเสี่ยเปี๋ยง (จำคุก 4 ปี)รวมทั้งกลุ่มเอกชนที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษแล้วนั้น อัยการพิจารณาแล้วไม่อุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าศาลกำหนดโทษตามพฤติการณ์และกฎหมายแล้ว

นายกิตินันท์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้คณะทำงานอัยการกำลังเตรียมทำคำแก้อุทธรณ์ที่นายภูมิ , นายบุญทรง และนายนิมล หรือโจ รักดี จำเลยที่ 15 ลูกน้องคนสนิทของนายอภิชาต ได้ยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อศาลไว้ ส่วนของจำเลยอื่นๆ อัยการยังไม่ได้รับสำเนาคำอุทธรณ์จากศาลฎีกาฯ จึงยังไม่แน่ชัดว่าจำเลยคนใดบ้างที่ยื่นอุทธรณ์สู้คดีอีกหรือไม่

นายกิตินันท์ กล่าวว่า เมื่อพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ ฉบับใหม่บังคับใช้แล้วให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยที่หลบหนีคดีได้ คณะทำงานอัยการรับผิดชอบคดีระบายข้าว ได้เสนอเรื่องต่ออสส. พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้นำคดีในส่วนของ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ จำเลยที่ 3 และนายสุธี จำเลยที่ 16 ซึ่งหลบหนีมาพิจารณาต่อ โดยรอให้อสส.มีความเห็นลงมาก่อน หากอสส.เห็นชอบ คณะทำงานจะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯโดยไม่ชักช้า ซึ่งทางคดีมีพยานหลักฐานพร้อมดำเนินการได้ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการติดตามตัว พ.ต.นพ.วีระวุฒิ และนายสุธี คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจีนั้น หลังจากศาลฎีกาฯ มีคำสั่งออกหมายจับแล้วเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2558 ในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกแล้ว และนำหมายจับส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.).แล้ว ปัจจุบันยังไม่คืบหน้าการจับกุมตัวจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน