กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โร่แจง เหตุป่วน เผาป้อมตำรวจทั่วกรุง แยกสะพานควาย ประดิพัทธ์ อุรุพงษ์ วอนหยุดก่อเหตุ เพราะสร้างมาจากภาษีประชาชน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ก.ย.64 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.และโฆษก บช.น. เปิดเผยว่า กรณีมีการนัดหมายชุมนุมผ่านช่องทางออนไลน์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีกลุ่มหลักนัดหมายรวมตัวกันช่วง 23–26 ก.ย. ดังนี้ วันที่ 23-26 ก.ย. กลุ่มทะลุแก๊สรวมตัวที่สามเหลี่ยมดินแดง วันที่ 25 ก.ย. กลุ่มทะลุฟ้านัดหมายรวมตัวโดยยังไม่ระบุเวลาและสถานที่ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

วันที่ 26 ก.ย. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดหมายเวลา 16.00-19.00 น. ที่ลานหน้าหอศิลป์ บช.น.ขอเตือนว่ากรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การชุมนุมหรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรค จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 31 ส.ค.64 และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดย บช.น.จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยบ้านเมืองไว้แล้ว

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า จากการชุมนุมวันที่ 22 ก.ย. ของกลุ่มทะลุแก๊ส ที่แยกดินแดง

  • เวลา 18.20 น. เริ่มมีการนำยางรถจักรยานยนต์มาเผาบริเวณบน ถ.วิภาวดีขาออก และมีการนำป้าย มาผูกขวางถนนบริเวณใต้ทางด่วน
  • เวลา 20.30 น. มีการนำแผงเหล็กปิดกั้นการจราจร และ จุดไฟเผาทรัพย์สินบริเวณใต้ทางด่วน ทำให้กีดขวางการจราจร และประชาชนในละแวกได้รับความเดือดร้อน
  • เวลา 21.20 – 23.00 น. มีการขว้างปาประทัด ยิงหนังสะติ๊ก พลุไฟ ระเบิดต่างๆ เป็นระยะๆเพื่อยั่วยุเจ้าหน้าที่บริเวณฝั่งถนนมิตรไมตรีและหน้ากรมดุริยางค์ทหาร
  • เวลา 23.20 น. มีกลุ่มผู้ก่อความวุ่นวายดังกล่าวบางส่วนฉีดสีสเปรย์ใส่เกาะกลางถนนวิภาวดี ขาเข้า เป็นเหตุให้มีทรัพย์สินสาธารณประโยชน์เสียหาย
  • ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืน 00.30 – 02.40 น. ยังมีกลุ่มฯ จำนวนหนึ่ง ตระเวนทุบทำลายและเผาป้อมจราจร อีกจำนวน 6 จุด ได้แก่ สน.บางซื่อ 3 จุด แยกสะพานควาย แยกประดิพัทธิ์ และด่วนระนอง, สน.ลุมพินี 1 จุด ที่แยกราชประสงค์, สน.พญาไท 1 จุด คือ แยกอุรุพงษ์ และสน.มักกะสัน 1 จุด ที่แยกมิตรสัมพันธ์

ซึ่งจะสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป เบื้องต้นผู้ก่อเหตุใช้รถจักรยายนต์ประมาณ 15 คัน ผู้ก่อเหตุประมาณ 30 คน การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ (ป.อาญา ม.215) ,เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกแล้วไม่เลิก (ม.216), วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น (ม.217) ,ทำให้เสียทรัพย์ (ม.358), ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม (21.00–04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น) และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวด้วยว่า กรณีเพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” โพสต์ข้อความเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมวันที่ 1,2,7 และ 10 ส.ค.2564 แล้วมีผู้ออกมาชุมนุมและก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรวบรวมพยานหลักฐาน ขอให้ศาลออกหมายจับแอดมินเพจดังกล่าวจำนวน 2 คน จับกุมตัวก่อนหน้านี้แล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย. จำนวน 1 คน

ต่อมาในวันที่ 22 ก.ย. เวลาประมาณ 12.45 น. จับกุมเพิ่มอีก 1 คน คือ น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1506/2564 ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ และตาม ป.อาญา มาตรา 116(3) ยุยงปุกปั่นเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย

โดย บช.น.จะดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เพื่อติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองมาดำเนินคดีตามกฎหมายทุกราย หากเยาวชนกระทำความผิด ผู้ปกครองอาจจะมีความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ด้วย ส่วนการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่เดือนก.ค.2564 ที่ผ่านมาจนถึง ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 220 คดี ผู้ต้องหา 808 คน ติดตามจับกุมตัวได้แล้ว 563 คน

ส่วนผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีซ้ำหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า บางส่วนกระทำผิดซ้ำ ส่วนจะมีมาตรการไม่ก่อเหตุซ้ำอย่างไรนั้น ช่วงเช้าที่ผ่านมาผบช.น. สั่งการฝ่ายสืบสวน ฝ่ายสอบสวน โดยฝ่ายสอบสวนไปทำความเข้าใจหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมราชทัณฑ์ สภาทนายความ ส่วนกรณีมีเยาวชนก่อเหตุนั้น ต้องทำความเข้าใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนต้องมีสหวิชาชีพมาร่วมสอบปากคำ เพราะอาจถูกชักจูงให้มากระทำความผิดได้ การจับกุมที่ผ่านมา เด็กกระทำผิดลดลง เหลือเพียงผู้ใหญ่

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า มั่นใจว่าตำรวจเอาอยู่ทั้งมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับการกระทำผิดแต่ละกลุ่ม ทางตำรวจมีมาตรการตามปกติเพื่อวางมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย เมื่อสามเหลี่ยมดินแดงก่อเหตุได้น้อยลง จึงเปลี่ยนไปจุดอื่น เมื่อได้รับความร่วมมือจากประชาชน ผู้ก่อเหตุไม่สามารถก่อเหตุได้ จึงเปลี่ยนไปก่อเหตุที่อื่น จึงต้องมีมาตรการติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุดำเนินคดีตามกฎหมาย

ด้านพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. กล่าวว่า กรณีมีผู้ก่อเหตุเผาป้อมจราจร 6 จุด รูปแบบการก่อเหตุเน้นเผาทำลายทรัพย์สินทางราชการ และของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง หลังจากนั้นทำการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ โดยใช้พื้นที่แฟลตดินแดงหลบซ่อนตัว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ปรับยุทธวิธีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อระงับเหตุ ป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวาย และยังคงเน้นปกป้องสถานที่ราชการ ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

“คำถามคือการก่อเหตุของกลุ่มดังกล่าวว่ามีจุดประสงค์ใด เนื่องจากทรัพย์ทางราชการที่เผาทำลาย ก็มาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น ส่วนการก่อเหตุความรุนแรงในลักษณะนี้จะขยายวงกว้างออกไปหรือไม่ คิดว่าเป็นปกติของผู้ที่ก่อเหตุที่พยายามหาโอกาส ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะยกระดับมาตรการทางกฎหมายให้เข้มข้นขึ้น

อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าอยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบหาตัวผู้กระทำผิด ซึ่งในช่วงเช้าที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งภายหลังจากลงพื้นที่แฟลตดินแดงเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในแฟลต ส่วนหนึ่งให้ความร่วมมือ ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ส่วนผลจากการเผาทำลายกล้องวงจรปิด สัญญาณไฟจราจร จนได้รับเสียหาย ยืนยันไม่กระทบกับการจราจร เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีก็สามารถดำเนินการได้” ผบช.น. กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน