สุทธวรรณ จวกรัฐบาลขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพิ่ม 2 เดือน สะท้อนความสับสน อยากเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ลดเสียงด่าจากประชาชน แต่ยังห่วงอำนาจ

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่ออีก 2 เดือน รวมถึงคลายล็อกกิจการเพิ่ม ปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็น 22.00-04.00 น. โดยทดลองใช้ 15 วัน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ ว่า หากพิจารณาในรายละเอียดของสถานประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนจะพบว่า แทบไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่นัก เพียงแค่เพิ่มเวลาห้างและตลาดเปิดมาอีก 1 ชั่วโมงเท่านั้น ข้อจำกัดของประชาชนส่วนใหญ่คือต้องไปในเวลาหลังเลิกงานเท่านั้น จึงทำให้เกิดความแออัดขึ้นจากเงื่อนไขของมาตรการรัฐ

“มาตรการแบบนี้เหมือนสั่งการมาจากห้องแอร์ แต่ไม่เคยลงมาเดินดูเห็นการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนจริงๆ เลย การขยายเพิ่มมา 1 ชั่วโมงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรจากที่เป็นอยู่มากนัก ที่ต้องเสี่ยงไปซื้อของในช่วงเวลาที่มีคนจำนวนมากด้วยเวลาที่เลือกไม่ได้ ต้องอัดตัวเองไปบนรถที่คนเต็มอยู่แล้วเพื่อรีบกลับบ้านให้ทันเคอร์ฟิว แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยได้ฟังข้อมูลรองรับอย่างสมเหตุสมผลเลยว่าเคอร์ฟิวมีไว้ทำไม นอกจากเอาไว้จับประชาชนที่ออกมาชุมนุมต้านรัฐบาลเท่านั้น”

น.ส.สุทธวรรณ กล่าวต่อว่า ในส่วนมาตรการผ่อนคลายการเล่นดนตรีในร้านอาหารที่บอกว่าสามารถเปิดดำเนินการได้นั้น ในฐานะที่ตนก็เป็นนักดนตรีและมีเพื่อนฝูงในแวดวงนักดนตรีจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามเล่นดนตรีในร้านอาหารช่วงที่ผ่านมา หลายคนสะท้อนว่าเป็นมาตรการที่มีข้อจำกัดจุกจิกเยอะมาก พวกเขาอดคิดไม่ได้ว่า นักดนตรียังคงถูกมองจากผู้ออกนโยบายเป็นผู้ร้ายของสถานการณ์โควิดเสมอ มาตรการผ่อนคลายที่ออกมาจึงเหมือนเป็นเพียงแค่การทำเพื่อลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเลี่ยงความรับผิดชอบในการช่วยเหลือเยียวยาเท่านั้น

น.ส.สุทธวรรณ กล่าวอีกว่า นักดนตรียังถูกจำกัดด้วยข้อบังคับที่ออกมาแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของนักดนตรี โดยเฉพาะการจำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 3 คน ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้จริงยาก ส่วนการขยายเวลาเพิ่มอีก 1 ชั่วโมง ยิ่งแทบไม่ได้เป็นการช่วยเหลือนักดนตรีหรือคนกลางคืนเลย ตั้งเครื่องเสร็จก็ต้องเตรียมเก็บวงทันทีเพราะร้านปิด 3 ทุ่ม ควรปรับเป็นไม่จำกัดจำนวนนักดนตรี แต่รักษาระยะห่างและขยายเวลาของร้านต่างๆ ออกไปน่าจะเป็นออกที่ดีกว่า

“หากใช้มาตรการ Covid Free Setting เป็นหลักปฏิบัติ น่าจะครอบคลุมปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ จึงไม่เข้าใจว่ามาตรการผ่อนคลายแบบนี้ออกมาได้อย่างไร เป็นคลายล็อกหรือคลายหลอกกันแน่ ถ้าอยากช่วยเหลือก็อยากให้ออกมาตรการที่เข้าใจและจริงใจกับพวกเขามากกว่านี้”

น.ส.สุทธวรรณ กล่าวต่อว่า การที่ ศบค. มีมติขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 2 เดือน ขณะที่ก่อนหน้านี้มีท่าทีว่าจะยกเลิกนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสับสนของรัฐบาล ด้านหนึ่งต้องการเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกลับมาและต้องการลดเสียงด่าจากประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งก็ห่วงความมั่นคงในอำนาจของตัวเอง

“การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงไม่ได้อยู่บนเหตุผลของการควบคุมโรคเป็นหลัก แต่คงไว้เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล โดยไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำต่อผู้ชุมนุม ซึ่งหลายครั้งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ปฏิบัติตามหลักการสลายการชุมนุมอย่างชัดเจน”

“นอกจากนี้ การประกาศแต่ละครั้งยังมองไม่เห็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคที่สามารถใช้กฎหมายอื่นแทนได้ แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเน้นอย่างยิ่งเฉพาะในบางพื้นที่ของกทม.เท่านั้น จึงอยากให้ที่ประชุมศบค. พิจารณาให้เห็นถึงประชาชนภาคส่วนต่างๆ ที่กำลังเดือดร้อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่บริหารตามสถานการณ์ความมั่นคงของตนเองเป็นเป้าหมายสำคัญ” น.ส.สุทธวรรณ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน