กฎหมายของปู่

ใบตองแห้ง

จู่ๆ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สปท.ผู้จะตั้งพรรคหนุนลุงตู่ ก็ไปยื่นแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ประกาศใช้แล้ว ให้รีเซ็ตสมาชิกพรรคเป็นศูนย์ เพื่อความเป็นธรรมพรรคเก่าพรรคใหม่ โดยใจตรงกันอย่างมิได้นัดหมาย กับลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ ทำให้ชาวบ้านกังขาว่ามีใครอยากเลื่อนเลือกตั้งใช่ไหม

กรธ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โต้ไพบูลย์ว่า คสช.อยู่มา 3 ปีไม่เคยคิดรีเซ็ตพรรคการเมือง กรธ.ก็ไม่เคยคิด กรธ.ร่างกฎหมายรัดกุมแล้ว ไม่ต้องแก้

แต่วันถัดมา ปู่มีชัยก็พูดอย่างมีหลักการว่า กฎหมายออกมาแล้วต้องแก้ได้สิ ถ้ามีเหตุ ถ้าจะแก้เพื่อขยายเวลาหรือรีเซ็ตสมาชิกพรรคก็แก้ได้ กรธ.ร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ไปอยู่ในความรับผิดชอบคนอื่น เมื่อเขาเปลี่ยนใจจะแก้ไข กรธ.จะตีโพย ตีพายทำไม

โอ๊ว ปู่ตอบสวยงามตามหลัก ชาติชายตีโพยตีพายทำไม อย่าแยแสนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่เย้ยว่ากฎหมายไม่ทันใช้ก็แก้ เปรียบเหมือนแม่นาคพระโขนง ตายทั้งกลม

ใครอยู่กับปู่ต้องทำใจ ต้องรู้จักใช้อีจู้ ปู่ไม่เคยแยแสว่าเขียนกฎหมายไปแล้วใครจะยำอย่างไร ใส่พริกใส่เกลือ งอกไม่งอก

ปู่เป็นมืออาชีพ มีอาชีพรับทำกฎหมาย อยากให้เขียนอย่างไรก็เขียนได้ตามออร์เดอร์ เขียนแล้วใครต่อเติมอย่างไร ปู่ไม่สน แบบร่างรัฐธรรมนูญแล้วเติมคำถามพ่วง ก็พ่วงไป ไม่เกี่ยวกัน ฉบับของฉันเป็นประชาธิปไตย ส.ส.เท่านั้นเลือกนายกฯ ได้ เพียงแต่ต่อสะพานให้ มีส.ว.แต่งตั้งในบทเฉพาะกาล 5 ปี

กรธ.ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ก็ไม่มีไพรมารี่โหวต ไปงอกใน สนช. ตอนแรกปู่โวยว่าอาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่ตอนท้ายไม่ยักว่าอะไร

กรธ.ร่างกฎหมาย กกต. ทีแรกให้รีเซ็ต แต่พอ สนช.เซ็ตซีโร่ ปู่กลับถูกอกถูกใจ จนกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ กกต.สมชัย ถึงขั้นแช่งกันว่าถ้าเครื่องบินตกยกทีมต้องเลื่อนเลือกตั้ง

ครั้นกฎหมายผู้ตรวจฯ กรธ.ให้รีเซ็ต สนช.ให้อยู่ต่อ ก็เฉยเลยไม่ว่ากัน มาถึงศาลรัฐธรรมนูญ สนช.พิลึกพิลั่น มีทั้งอยู่ต่อและต่ออายุ ตัวแทน กรธ. 3 คนค้านแข็งขัน แต่ลงท้าย กรธ. มีมติไม่ติดใจ

เข้าใจครับว่ากฎหมายพ้นไปแล้ว ใครจะยำไม่ยำ งอกไม่งอก เป็นเรื่องของเขา แต่นักกฎหมายต้องมีหลักการ แม้แพ้มติ ก็ต้องยืนยันหลักคิด ไม่ใช่ปล่อยให้องค์กรอิสระเซ็ตไม่เซ็ตกันไปคนละทิศ

เฉพาะกฎหมายที่ท่านร่าง ก็ใช่ว่าไม่มีปัญหา กกต.แค่เริ่มสรรหาก็ทำให้อ้าปากค้าง สเป๊กมหาเทพ” ต้องอธิบดี 5 ปี รองปลัด รอง ผบ.ตร.ไม่ได้ ศาสตราจารย์ 5 ปี แต่มีตั๋วทนาย ใบประกอบวิชาชีพครู หมอ พยาบาล 20 ปี เป็นได้สบาย

ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ยัวะกันใหญ่ แต่แก้ไม่ได้ เพราะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ต้องลงประชามติ

การคัดเลือก กกต.โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก็ถูก กกต.สมชัยกามิกาเซ่ จนต้องตีความคำว่า “เปิดเผย” กันวุ่นวาย ถามจริง ใครเป็นต้นคิด ว่าการเลือกทั้ง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด “ลงคะแนนโดยเปิดเผย” ทั้งที่ไม่เคยมี

กรธ.เงียบกริบเลยนะครับ ปล่อยให้ 2 ฝ่ายซัดกันไปซัดกันมา ทั้งที่ กรธ.ควรอธิบายว่า ต้องการให้ศาล “ลงคะแนนโดยเปิดเผย” อย่างไร เพื่ออะไร ที่ว่าๆ กันนั้นใช่ “เปิดเผย” หรือไม่

แม้ค่อนข้างเห็นด้วยกับ กกต.สมชัย ผมก็เห็นใจผู้พิพากษา และงุนงงสงสัยว่า กรธ.เขียนให้ “ลงคะแนนโดยเปิดเผยไว้ทำไม เพราะปกติ การโหวตเลือกตัวบุคคลจะใช้หลักลงคะแนนลับ เพื่ออิสระในการตัดสินใจ

ลองคิดดู คน 176 คน ลงมติเลือกผู้ชนะ 2 คนจากผู้สมัคร 5 คน ไม่ว่าผู้พิพากษาหรือชาวบ้านก็ลำบากใจ คนรู้จักคบหาร่วมงานกันมา ให้เลือกใครไม่เลือกใครแบบเห็นกันจะจะ แล้วต่อไปจะมองหน้ากันได้ไง

กรรมการสรรหาน่ะใช่ ต้องลงคะแนนเปิดเผย ต้องเปิดเผยให้ประชาชนรู้ด้วยว่าใครเลือกใคร เพราะท่านเป็นตัวแทนองค์กร ประธานศาล ประธานสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ฯลฯ เลือกใคร จะได้รับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ของ กกต.หรือตุลาการคนนั้นไปอีก 7 ปี

แต่กรณีนี้ มีองค์กรรับผิดชอบอยู่แล้วคือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ถ้าต้องระบุว่าใครเลือกใคร ทำไมไม่กำหนดให้วุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชน ต้องลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วย

นี่คือความลักลั่นที่ กรธ.ต้องชี้แจงว่าเขียนมาได้อย่างไร เขียนเพื่ออะไร

กฎหมายของปู่ แค่เพิ่งใช้ ก็มีปัญหาอย่างเซอร์ไพรส์ ไม่อยาก คิดเลยว่าวันหน้าจะเป็นอย่างไร

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน