วันที่ 21 ธ.ค. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต สนช. เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการป.ป.ช. สืบค้นข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและประชาชน ผ่านอุปกรณ์สื่อสารทั้งหมดว่า หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองอยู่ โอกาสที่ประชาชนจะเดือดร้อนมีมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ

นายมีชัย กล่าวว่า แม้กฏหมายจะยกให้เป็นอำนาจศาล พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ศาลจะได้รับฟังเหตุผลจากเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ข้างเดียว ถ้าศาลเชื่อ เท่ากับป.ป.ช.จะมีอำนาจถึง 90 วัน จับผู้ร้ายคนเดียวแต่เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ดักฟังโทรศัพท์ ดูอีเมล์ได้เป็นร้อยคน หากมีข้อสงสัยว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับอำนาจก็สนุกดี แต่คนถูกละเมิดมันไม่สนุกด้วย

นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนจะเป็นการให้อำนาจซ้ำซ้อนกันที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีอยู่หรือไม่นั้น ตนคิดว่ามันไม่ซ้ำซ้อน แต่เท่ากับประชาชนอยู่ตรงกลาง โดยทุกหน่วยงานมีอาวุธกันหมด ประชาชนก็อยู่ลำบาก และถ้าอ้างว่าป.ป.ช.ควรมีอำนาจเหนือกว่าดีเอสไอตามศักดิ์กฎหมายลูก จะคิดแบบนั้นก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กรธ.ยังพูดตอนนี้ไม่ได้ว่า จะตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่ เพราะต้องรอการพิจารณาในชั้นสนช.ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน

เมื่อถามถึงการใช้มาตรา 44 แก้พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อขยายเวลาให้พรรคทำงานธุรการ เพียงพอหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า พูดไม่ได้ เชื่อว่าจะแก้ไขเท่าที่จำเป็น ส่วนการแก้โดยสนช. นั้น บอกไม่ได้ว่าเหมาะหรือไม่ แต่เวลา 3 เดือนไม่น่าทัน ใช้มาตรา 44 น่าจะทันกว่า ส่วนจะกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งหรือไม่ นายกฯระบุไว้ชัดเจนแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน