ก้าวไกล เฮ กกต.สั่งยุติ 10 เรื่องรวด กรณีถูกร้องยุบพรรค ชี้ใช้สิทธิประกันตัวแกนนำม็อบ เสนอแก้ม.112 ไม่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเห็นชอบตามที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีความเห็นให้ยุติเรื่อง กรณีนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากสมาชิกและกรรมการบริหารพรรค กระทำการใน 10 ประเด็น หลังคณะกรรมการไต่สวนของสำนักงานฯ ตรวจสอบแล้วเห็นว่าการกระทำยังไม่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

ทั้ง 10 ประเด็น ประกอบด้วย 1.กรณีเดือนส.ค.63 นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประกันตัวนายภานุพงศ์ จาดนอก และนายกรกช แสงเย็นพันธ์ ผู้ต้องหาในคดีอาญาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ ฝ.972/2563 และคดีหมายเลขดำที่ ฝ.1031/2563

2.กรณีเดือนส.ค.63 นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประกันตัวนายภาณุมาศ สิงห์พรม แกนนำคณะประชาชนปลดแอก ผู้ต้องหาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ.1078/2563

3.กรณีเดือนต.ค.63 น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ใช้ตำแหน่งส.ส. บัญชีรายชื่อ ประกันตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ดาวดิน แกนนำเยาวชนปลดแอก ซึ่งถูกจับกุมในเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ผู้ต้องหาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ.1302/2563 ซึ่งเห็นว่า การใช้ตำแหน่งหน้าที่ประกันตัวผู้ต้องหา เป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของบุคคล ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

4.กรณีกล่าวหาช่วงเดือนก.ย.63 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายรังสิมันต์ โรม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และส.ส.ของพรรครวม 17 คน เข้าร่วมชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ และที่สนามหลวงนั้น เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 45 ประกอบมาตรา 92(3) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

5.กรณีกล่าวหาว่า พรรคก้าวไกล กระทำการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 45 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จากเหตุวันที่ 16 พ.ย.63 นายพิธา แถลงจุดยืนของพรรค เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 และเสนอให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือฉบับไอลอว์ เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 255 และ 2561 อย่างชัดเจนให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ โดยกำหนดให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรีหรือจากสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของส.ส.

กรณีดังกล่าวจึงดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายที่กำหนด จึงยังฟังไม่ได้ว่านายพิธา กระทำการเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

6.กรณีกล่าวหา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แถลงการณ์เมื่อ 25 พ.ย. 63 ถ้อยคำมีลักษณะสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ที่บริเวณรัฐสภา ให้ก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยเห็นว่าการแถลงการณ์ของนายวิโรจน์ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ปรากฏถ้อยคำใดสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อย ซึ่งการแสดงความคิดเห็นได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 จึงยังฟังไม่ได้ว่าการกระทำของนายวิโรจน์ฝ่าฝืนมาตรา 45 ประกอบมาตรา 92 (3)

7.กรณีกล่าวหาว่า เดือนม.ค. 64 นายพิธา ให้สัมภาษณ์ว่าพรรคก้าวไกลมีมติให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 8.กรณีกล่าวหาว่า นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค กล่าวถึงการที่ตำรวจเข้าจับกุมนายศิริชัย นาถึง หรือนิว นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลากลางคืนว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม และเป็นนโยบายที่ผิดพลาดของนายกฯ ที่จะใช้กฎหมายทุกฉบับ รวมถึงมาตรา 112 จัดการกับนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุม

โดยเห็นว่าเป็นเพียงการแสดงความเห็นในการทำหน้าที่ของส.ส.ที่เห็นว่ากฎหมายใดเป็นอุปสรรคหรือไม่เป็นประชาธิปไตย และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าพรรคก้าวไกลใช้กลไกระบบรัฐสภา เพื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา จึงยังฟังไม่ได้ว่านายพิธา หัวหน้าพรรค ในฐานะกรรมการบริหารพรรค กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เข้าข่ายผิดมาตรา 92(2)พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

9.กรณีกล่าวหาม.ค. 64 นางอมรัตน์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ส.ส.ประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 ที่ศาลตลิ่งชัน ในคดีแอดมินเฟซบุ๊ก คณะราษฎร จำหน่ายปฏิทินเป็ดสีเหลือง เห็นว่า การใช้ตำแหน่งหน้าที่ประกันตัวผู้ต้องหาถือเป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของบุคคล ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมีผลผูกพันพรรคก้าวไกล จึงยังฟังไม่ได้ว่านางอมรัตน์ จะทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ

10.กรณีกล่าวหาว่าเดือนพ.ย. 63 นายรังสิมันต์ โรม และส.ส.ของพรรครวม 4 คน ได้เข้าพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มราษฎร บริเวณด้านหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ในลักษณะสนับสนุนการชุมนุมให้ก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้ง 4 ได้เข้าพื้นที่ชุมนุมดังกล่าวจริง

แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ยืนยันว่าบุทั้ง 4 ให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมไม่ว่าทางการเงิน การเป็นแกนนำปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมชุมนุมหรือสนับสนุนอื่นใดให้ผู้ชุมนุมก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี จึงยังฟังไม่ได้ว่าการเข้าพื้นที่ดังกล่าว เป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อย ที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 45 ประกอบมาตรา 92 (3)พ.ร.ป.พรรคการเมือง

ทั้งนี้ สำนักงานกกต.ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังนายณฐพรแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน