เครือข่ายภาคประชาชน ยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย PRTR กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมรายงานชื่อ-ปริมาณสารพิษ หวังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ก.ค.2565 ที่รัฐสภา ตัวแทนมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การรายงาน และเปิดเผยข้อมูล การปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน จำนวน 26 รายชื่อ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภา เพื่อหลังจากนี้จะรวบรวมรายชื่อประชาชน 1 หมื่นรายชื่อ เสนอกฎหมายภาคประชาชน เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหามลพิษอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ มีบทบาทสำคัญในการดูแลควบคุมมลพิษ แต่เรายังขาดกฎหมาย PRTR เพื่อรายงานการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรม ซึ่งจะดำเนินการได้ต่อเมื่อมีกฎหมายฉบับนี้เป็นพื้นฐาน ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ห้ามปล่อยมลพิษ แต่กำหนดว่า การปล่อยต้องรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายงานเป็นชื่อมลพิษนั้นๆ และปริมาณในแต่ละปี

กฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์เพื่อป้องกันความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองประชาชน อีกทั้งจะทำให้ประชาชนรู้ว่าในพื้นที่ต่างๆ มีโรงงานอะไรตั้งอยู่บ้าง เป็นการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ และรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนจะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้มาก เพราะจะตรวจสอบได้สารพิษ สารเคมี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงอุบัติภัย ทำให้ปัญหามลพิษทางอุตสาหกรรมลดลง

“เวลาเกิดปัญหาหรืออุบัติภัยขึ้น เราไม่มีข้อมูล เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมปัจจุบันจะควบคุมการการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด แต่ไม่มีการรายงานชนิด และปริมาณ และไม่ได้รับรองการเข้าถึงข้อมูลต่อประชาชน ถ้าประเทศจะก้าวไปข้างหน้าเราจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้” น.ส.เพ็ญโฉม ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน