กฟน.สั่งถอดหมด หม้อแปลงล็อตไฟไหม้สำเพ็ง ส่งตรวจสอบซ้ำ พร้อมเปลี่ยนลูกใหม่ใน 7 วัน เร่งเช็กสภาพ ในพื้นที่กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565 นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้ย่านสำเพ็งว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ห่วงใยต่อกรณีเพลิงไหม้ย่านสำเพ็ง โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รับสนองนโยบายและสั่งการให้ กฟน.ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด และดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

ล่าสุด กฟน.ได้ดำเนินมาตรการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบแล้วบางส่วน ได้แก่ กลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่รอการพิสูจน์หลักฐานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งในกลุ่มผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และกลุ่มร้านค้าที่ไม่ต้องรอการประเมินมูลค่าความเสียหาย

ส่วนมาตรการด้านระบบไฟฟ้า ได้สั่งระงับการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าในรุ่นเดียวกันกับหม้อแปลงไฟฟ้าจากเหตุการณ์สำเพ็งทั้งหมด และนำไปตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย ปัจจุบันมีการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวในระบบจำนวน 5 ลูก หลังเกิดเหตุทำให้คงเหลือ 4 ลูก ซึ่งจะดำเนินการเปลี่ยนหม้อแปลงไฟฟ้าลูกใหม่ทดแทน แล้วเสร็จภายใน 7 วัน

นายวิลาศ กล่าวต่อว่า กฟน.ได้ดำเนินมาตรการตรวจสอบหม้อแปลงไฟฟ้าในกลุ่มหม้อแปลงวงจรตาข่าย (Network Transformer) อีก 450 ลูกในพื้นที่เมืองชั้นใน เกาะรัตนโกสินทร์ เขตพระนคร โดยดำเนินงานเพิ่มเติมจากภารกิจบำรุงรักษาตามมาตรฐานวิศวกรรมที่ กฟน. ทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยใช้วิธี Dissolved Gas Analysis (DGA) หรือ การวิเคราะห์ก๊าซที่ละลายในน้ำมัน เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหม้อแปลงไฟฟ้า เสมือนการตรวจเลือดของมนุษย์เพื่อตรวจสอบสุขภาพ

โดยจะสามารถตรวจวัดค่าความชื้น ค่าก๊าซไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ เอทิลีน อีเทน มีเทน และอะเซทิลีน เป็นต้น หากพบความผิดปกติ จะทำให้วิเคราะห์หาสาเหตุได้อย่างแม่นยำ และสามารถซ่อมบำรุง หรือการเปลี่ยนหม้อแปลงไฟฟ้าลูกนั้นๆ ได้ในทันที มีกำหนดการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.

นายวิลาศ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กฟน.จะตรวจสอบด้วยรูปแบบ Standard Check กับหม้อแปลงไฟฟ้าของ กฟน.ทั้งสิ้น 67,000 ลูก ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยเริ่มต้นระยะที่ 1 จากการตรวจสอบควบคู่กับการทดสอบ DGA และพื้นที่ติดตั้งหม้อแปลงใกล้แหล่งชุมชน รวมจำนวน 18,000 ลูก มีกำหนดเสร็จภายใน 4 เดือน ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทำเพิ่มเติมจากการตรวจประจำปี

โดยการตรวจสอบด้วยกล้องวัดอุณหภูมิ Thermo Scan เพื่อหาค่าความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ ตรวจสอบการทำงานของระบบป้องกันในหม้อแปลงไฟฟ้า รวมถึงการตรวจสอบค่ากระแสไฟฟ้า แรงดันไฟฟ้า จุดเชื่อมต่ออุปกรณ์ และระบบสายดิน เพื่อประเมินประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าของหม้อแปลงไฟฟ้าแต่ละลูก และประเมินความปลอดภัยตลอดอายุการใช้งาน ตลอดจนการเพิ่มนวัตกรรมระบบควบคุมและติดตามการทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้า (Online Transformer Control & Monitoring System) มาใช้เสริมความปลอดภัยจากการทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น

นายวิลาศ กล่าวว่า ในด้านการแก้ไขระยะยาว กฟน.ยังคงดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่อง โดยมีระยะทางดำเนินโครงการรวม 215.6 กิโลเมตร เสร็จในปี 2568 ระหว่างนี้ กฟน.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กทม.และสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แก้ไขปัญหาสายสื่อสารที่เป็นจุดเสี่ยงเพลิงไหม้ โดยเฉพาะการจัดระเบียบสายสื่อสารในบริเวณหม้อแปลงไฟฟ้า นอกจากจะทําให้เกิดความปลอดภัยแล้ว ยังส่งผลดีต่อทัศนียภาพของเมืองอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน