อัยการ เปิด รธน. หากศาลตัดสิน บิ๊กตู่ พ้นนายกฯ เหตุครบ 8 ปี บิ๊กป้อม นั่งรักษาการ ครม.อยู่ต่อจนกว่า มีชุดใหม่เข้ามา หากยุบสภา ประยุทธ์ ยังรักษาการเอง

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผอ.สำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงขั้นตอนกรณี นายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งเพราะเหตุดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ว่า เปิดกฎหมาย หากนายกฯ พ้นตำแหน่งเพราะเหตุดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ใครจะเป็นนายกฯ และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป

กรณีที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบกำหนดเวลา 8 ปี ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสอง หรือไม่นั้น มีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลงแล้ว ใครจะมาเป็นนายกฯและครม.ต่อไป

บทความนี้จะเสนอข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ เพื่อเป็นความรู้ ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะคาดการณ์หรือเกี่ยวข้องกับผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองไม่ว่าในกรณีใดๆ

1.นายกฯและครม.รักษาการ
เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 ด้วยเหตุที่ดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา 8 ปี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย (รัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1)) อย่างไรก็ตาม ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (รัฐธรรมนูญมาตรา 168 (1))

ดังนั้น ครม.ชุดปัจจุบัน เว้นแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ โดยผู้ที่จะทำหน้าที่นายกฯรักษาการ ในช่วงเปลี่ยนถ่ายไปสู่ครม.ชุดใหม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดว่าให้รองนายกฯ เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกฯหลายคน ให้ครม.มอบหมายให้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ซึ่งหากพิจารณาตามลำดับแล้ว รองนายกฯ ที่จะทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ คงจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

นอกจากนี้ เมื่อรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ด้วยเหตุที่นายกฯ ครบวาระ 8 ปี จะต้องดำเนินการเพื่อให้มีครม.ชุดใหม่ตามมาตรา 158 และมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 (รัฐธรรมนูญมาตรา 167 วรรคสอง) ดังจะกล่าวต่อไปนี้

2.นายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้
การให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ คนใหม่ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ซึ่งประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายชัยเกษม นิติสิริ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โดยต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และมาตรา 272)

3.นายกฯ นอกบัญชี
หากไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคแจ้งไว้ข้างต้นได้ สามารถขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ โดยสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา

ในกรณีนี้ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และรัฐสภาจะต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้
จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอชื่อบุคคลอื่นที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยมติเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (รัฐธรรมนูญ มาตรา 272)

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา ถึงแม้จะทำให้ครม.ทั้งคณะ รวมทั้งพล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) แต่พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ต่อไปได้ จนกว่าครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง เพราะดำรงตำแหน่งนายกฯครบกำหนดเวลา 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์จะไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 168 (1))

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน