‘จาตุรนต์’ ชี้ระบบเลือกตั้งวุ่นวาย เพราะอยากให้ ‘ประยุทธ์’ และพวกเป็นรัฐบาล ไม่สนใจความต้องการประชาชน ถึงขั้นออกกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กภายหลังเหตุการณ์สภาล่ม ระบุว่า “สภาล่มวันนี้ ความเป็นมาและความเป็นไป”

1.รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 กำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ด้วยเหตุผลว่าทุกคะแนนต้องไม่ตกน้ำ ระบบนี้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว คิดจำนวนสส.พึงมีของแต่ละพรรคก่อน พรรคไหนได้สส.เขตมาเท่าไหร่ให้เอาไปหักออกจากสส.พึงมีของพรรคนั้น ได้จำนวนสส.บัญชีรายชื่อ

2.ระบบนี้ได้ผลตามที่ผู้ออกแบบต้องการคือทำให้พรรคการเมืองที่ได้สส.เขตมากที่สุดคือพรรคเพื่อไทย ไม่ได้สส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว นอกจากนั้นกกต.ยังใช้วิธีพิสดารทำให้พรรคการเมืองจำนวนมากที่ได้เสียงเพียงไม่กี่หมื่นคะแนนได้สส.ไปพรรคละคน ซึ่งส่วนใหญต่อมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

3.เมื่อเวลาผ่านไป พรรคพปชร.เห็นว่าตนเองมีโอกาสจะเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากยังใช้ระบบบัตรใบเดียว ตนเองจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเจอมา จึงวางแผนแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ พร้อมกับเพิ่มจำนวนเขต ลดจำนวนสส.บัญชีรายชื่อลง ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้พปชร.ได้เปรียบพรรคอื่นทั้งหมดรวมทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล

4.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขระบบเลือกตั้งผ่านรัฐสภาและมีผลบังคับใช้ ทำให้ครม.ต้องเสนอร่างแก้ไขพรป.ต่อรัฐสภาและรัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 180 วัน

5.รัฐสภารับร่างแก้ไขพรป.การเลือกตั้งที่ครม.(ตามข้อเสนอของกกต.)เสนอต่อรัฐสภา ซึ่งมีสาระสำคัญคือใช้ระบบบัตรสองใบ ไม่มีการคิดสส.พึงมี จำนวนสส.เขตคิดจากเขต ส่วนสส.บัญชีรายชื่อคิดจากบัตรพรรค แยกกันอย่างชัดเจนเหมือนการเลือกตั้งปี 44,48,และปี 54 ที่ปัจจุบันเรียกว่า “หาร 100”

6.คณะกรรมาธิการพิจาณาร่างพรป.พิจารณาแล้วเสร็จ เสนอต่อรัฐสภาโดยคงสาระสำคัญไว้ตามร่างที่ครม.(และกกต.)เสนอ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เพิ่งแก้ไขไปก่อนแล้ว

7.วิปพรรคร่วมรัฐบาลลงมติสนับสนุนร่างพรป.ของคณะกรรมาธิการฯ

8.ช่วงที่มีการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกเป็นต้นมา เกิดความขัดแย้งในพปชร.ถึงขั้นจำยอมสมคบกันให้ขับสส.ออกจากพรรค ประกอบกับคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์และพปชร.ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงเกิดความคิดที่จะแก้ไขระบบเลือกตั้งอีกครั้งเพื่อลดความได้เปรียบของพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย

9.ก่อนการลงมติในวาระที่สองในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพียงวันเดียว มีคำสั่งจากผู้นำรัฐบาลให้สว.และสส.พรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบตามผู้สงวนคำแปรญัตติเพียงคนเดียวที่เสนอให้คิดจำนวนสส.พึงมีโดยคำนวณจากบัตรพรรค แล้วหาจำนวนสส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคด้วยการเอาจำนวนสส.เขตไปหักออกจากสส.พึงมีของแต่ละพรรค ที่เรียกกันว่า “หาร 500” ซึ่งเป็นระบบการเลือกตั้งที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขไปแล้วอย่างชัดเจน

10.คณะกรรมาธิการฯต้องไปแก้ไขมาตราอื่นๆในร่างพรป.ให้สอดคล้องกับมาตราที่เห็นชอบให้แก้ไขไปแล้ว เมื่อแก้ไขเสร็จก็นำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา

11.ระหว่างรอคณะกรรมาธิการเสนอกลับเข้ามาใหม่ มีการไปคำนวณตัวเลขกันอีกพบว่า ระบบ “หาร 500” นี้ พรรคพปชร.และพรรคร่วมรัฐบาลกลับจะเสียเปรียบ ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้สส.บัญชีรายชื่อเลย แต่พรรคฝ่ายค้านอื่นๆอาจจะกลายเป็นได้เปรียบขึ้นมา พรรคร่วมรัฐบาลจึงกลับลำอีกครั้งและแผนการทำให้ “สภาล่ม” จึงเกิดขึ้นและถูกนำมาใช้ ประกอบกับเสียงส่วนใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านก็เห็นว่าไม่ควรปล่อยให้ร่างแบบ “หาร 500” ที่ขัดรัฐธรรมนูญนี้ผ่านสภา สภาจึงล่ม และทำให้ร่างพรป.นี้ตกไปในที่สุดเนื่องจากพ้นกำหนด 180 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

12.เมื่อร่างที่พิจารณากันอยู่ตกไป รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้ร่างที่เสนอเข้าสภาแต่ต้นเป็นกฎหมาย ก็คือร่างที่ครม.เสนอต่อรัฐสภา คือ ระบบ “หาร 100”

13.ที่จะต้องติดตามต่อไปคือจะมีใครยื่นเรื่องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างพรป.ที่ใช้ระบบ “หาร 100” นี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีการยื่นให้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าอย่างไร นอกจากนั้นก็ยังมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรอบหนึ่งให้กลับมาใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมหรือบัตรใบเดียว เพียงแต่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรอบหนึ่งนี้มีข้อจำกัดอยู่ที่เวลาอาจไม่พอและการจะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีเสียงฝ่ายค้านมากกว่า 20% ของจำนวนสส.ฝ่ายค้านที่มีอยู่สนับสนุนด้วย

จะเห็นได้ว่าเรื่องระบบเลือกตั้งที่สับสนวุ่นวายกันอยู่นี้มีปฐมเหตุมาจากการออกแบบระบบเพื่อให้พลเอกประยุทธ์และพวกได้เป็นรัฐบาลและต่อมาก็เป็นความพยายามที่จะรักษาความได้เปรียบไว้เพื่อให้พลเอกประยุทธ์กับพวกอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการที่จะทำให้ประเทศนี้มีระบบการเลือกตั้งที่ดี ที่เป็นประชาธิปไตย และไม่สนใจเลยแม้แต่น้อยว่าการเลือกตั้งจะสะท้อนเจตจำนงความต้องการของประชาชนผู้ออกเสียลงคะแนนหรือไม่ การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของพลเอกประยุทธ์กับพวกนี้ ทำได้ถึงขั้นออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่ที่ถูกระงับยับยั้งไว้ก็เพราะระบบที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ของการสืบทอดอำนาจ

พลเอกประยุทธ์กับพวกจะแก้เกมนี้อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน