วันที่ 14 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เตรียมทำความเห็นหลังจากกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายปรับแก้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้าว่า ถ้ามองจุดเดียว ต้องตอบว่าล่าช้า เพราะเมื่อส่งตีความ ศาลต้องใช้เวลาพิจารณาแต่ไม่กระทบโรดแม็ป และถึงแม้จะช้าอย่างไรก็ยังอยู่ในโรดแม็ปใหญ่เพราะได้คิดเวลาเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้แล้วให้จัดเลือกตั้งภายในเดือนก.พ. 2562

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลเห็นว่ามีบางมาตราที่ขัดรัฐธรรมนูญ มีผลต้องส่งกลับมาให้ทำใหม่เฉพาะมาตราที่เป็นปัญหาและขัดรัฐธรรมนูญ โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือสภาตั้งคนขึ้นมาทำก็ได้ ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการหาคนมาทำ โดยไม่ต้องยกร่างใหม่ทั้งหมดจึงใช้เวลาไม่กี่วัน แต่หากนำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว มีการเลือกส.ว.แล้ว มีคนยื่นตีความ จะน่ากังวลมากกว่า นี่คือสิ่งที่นายมีชัยเป็นห่วง

เมื่อถึงข้อสงสัยว่านายมีชัย รับทราบถึงปัญหาแล้ว เหตุใดไม่แก้ไขให้เรียบร้อยในชั้นกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะไม่ได้อยู่ในกมธ.ร่วม เข้าใจว่าพูดคุยกันแล้วเสียงข้างมากเป็นอีกทาง เสียงข้างน้อยก็ต้องว่ากันไป ทั้งนี้ นายมีชัย มีสิทธิเตือนแต่ไม่มีสิทธิยื่นให้สนช.ส่งศาลตีความ ดังนั้น ขึ้นอยู่กับประธานสนช.จะพิจารณาและถามสมาชิกว่าจะเอาอย่างไร หากจะยื่นตีความ ก็ให้สมาชิกเข้าชื่อ 25 คนยื่นได้ และควรยื่นก่อนส่งร่างมาถึงนายกฯ และขณะนี้ทั้ง 2 ฉบับยังไม่ส่งมาที่ทำเนียบฯ ซึ่งยอมรับว่ากังวลที่ความเห็นไม่ตรงกันและทำไมไม่ทำให้เรียบร้อย

เมื่อถามว่าในอนาคตจะมีจุดอื่นที่เป็นปัญหาตามมาอีกหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า อย่าถามให้บานปลายชวนวิวาท เมื่อกรธ.เป็นผู้ร่างมาแนวหนึ่ง แล้วสนช.ไปแก้อีกทางหนึ่ง ความเห็นจึงขัดแย้งกัน เมื่อตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ได้เสียงข้างมากออกมาแล้ว แต่เสียงข้างน้อยยังติดใจและเตือนไปแล้วไม่ฟัง

เมื่อถามว่าเกรงจะถูกมองว่านายมีชัย และผู้เกี่ยวข้องสมรู้ร่วมคิดกันเพื่อประวิงเวลา นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่และคิดว่านายมีชัยสุจริตใจที่จะมองอย่างนั้น และที่ผ่านมาก็ได้เตือนมาตลอด แต่กมธ.ร่วมบางคนเห็นว่าไม่ขัด ถ้าสงสัยก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งกฎหมายเปิดทางให้ทำได้ นายมีชัยจึงถามว่าเมื่อสงสัยแล้วทำไมไม่ส่งให้ตีความ ซึ่งใช้เวลาไม่นาน เช่น เดียวกับกฎหมายป.ป.ช.ที่จะใช้เวลาไม่นาน อย่างไรก็ตามตนยังไม่ได้เจอหรือพูดคุยกับนายมีชัยในเรื่องดังกล่าว

นายวิษณุ กล่าวกรณีนายกฯ สั่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบเรื่องทุจริตของทุกกระทรวงว่า รัฐบาลคงไม่ส่งคนไปร่วมตรวจสอบด้วย ป.ป.ท.มีหน้าที่ทำเรื่องทุจริตภาครัฐโดยตรง และมีสิทธิร้องขอความช่วยเหลือหน่วยงานใดได้ และการตรวจสอบจะสุ่มตรวจตามที่สงสัยว่ามีโอกาสทุจริต และที่เจอก็มาจากการสุ่มตรวจ เบื้องต้นเจอใน 3 โครงการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน