เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจรับตำแหน่งในพรรคการเมืองใหม่ที่จะตั้งขึ้นเพื่อกลับมาเป็นนายกฯว่า จะรับตำแหน่งหรือไม่คงไม่ใช่เรื่องหลัก น่าจะเป็นเรื่องของการจะยอมรับการเสนอชื่อเป็นนายกฯหรือไม่ ตนเห็นว่า นายกฯ คงไม่ค่อยอยากที่จะต้องมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการเท่าไหร่ เพราะภาระเยอะอยู่แล้ว ทั้งในฐานะนายกฯ ทั้งในฐานะหัวหน้า คสช. แต่ขณะนี้เหมือนมีการประเมินเส้นทางการเป็นนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้ง 2 วิธี เพียงแต่ความยากง่าย ของแต่ละเส้นทางต่างกัน เส้นทางคนนอกความยากคือ จะต้องมีมติของรัฐสภา ที่ยกเว้นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องการเลือกคนจากบัญชี ต้องมีการเสนอญัตติให้ไปเอาคนนอก ซึ่งใช้เสียง 500 เสียง จาก 750 ถึงแม้ว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภา 250 ที่หลายคนคาดการณ์ว่าพร้อมที่จะสนับสนุน ก็ยังต้องไปหาอีก 250 ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ง่าย ฉะนั้นหนทางนี้อาจจะขาดความมั่นใจ

เมื่อลองดูในกรณีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อจะง่ายกว่า เพราะในการลงมติ ถ้าได้ 375 เสียง สามารถเป็นนายกฯได้เลย เมื่อมีเสียง 250 ของวุฒิสภาแล้ว ก็ต้องการ ส.ส.อีก 125 คน แต่ช่องทางนี้มีความเสี่ยงในตัวเอง เพราะการตอบรับที่จะมาอยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง จะไม่เป็นคนนอกแล้ว และไม่เป็นคนกลางเหมือนกัน เมื่ออยู่ในสนามการเลือกตั้ง เงื่อนไขที่สำคัญคือ พรรคที่เสนอชื่อ ซึ่งทำได้พรรคเดียว จะต้องได้ส.ส.อย่างน้อย 25 คน ตนไม่รู้เขาประเมินกันว่าจะยากง่ายแค่ไหนที่จะได้ส.ส. 25 คน

ส่วนการตั้งพรรคของนายสุเทพ เทือกสุบรรรณ เลขาธิการมูลนิธิกปปส. จะมีผลกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างไรนั้น คงกระทบกับทุกพรรค มีคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เราค่อนข้างชัดเจนแล้ว แม้ 2-3 พรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ อาจจะเคยมีจุดร่วมกับเราในการต่อสู้ทางการเมือง เช่นความต้องการปฏิรูปประเทศ หรือการไม่ยอมรับระบบที่มีปัญหาในอดีตเรื่องคอร์รัปชัน แต่แนวคิดในการบริหารจัดการบ้านเมือง ยังค่อนข้างต่างกัน ส่วนพรรคนายสุเทพจะเสนอพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯหรือไม่นั้น ต้องถามนายสุเทพดู ในแง่ของการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านจะยอมรับการเสนอชื่อได้เพียงพรรคเดียว

เมื่อถามถึงการที่นิสิตจุฬาฯกลุ่มหนึ่ง ชูป้ายต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ ว่า ชาวจุฬาฯรักลุงตู่ (เผด็จการ) นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ผมไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกคนก็มองเห็นอยู่แล้วว่า เมื่อนายกฯไปปฏิบัติภารกิจ ในสถาบันการศึกษา จะมีนักศึกษาซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวอยู่จำนวนหนึ่ง ท่านก็สั่งว่า อย่าไปยุ่งกับเขา แต่ก็ไม่ค่อยสบายใจเหมือนกันว่าทำไมหลังจากนั้นมีข่าวว่ามีการไปหาที่บ้าน เพราะดูเขามาแสดงออกแบบสงบไม่ได้มีอะไร แล้วเป็นสิทธิที่ทำได้ ไม่ได้ผิดกฎหมายด้วย ตนยังนึกไม่ออกว่าจะไปผิดกฎหมายข้อไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน