เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงาน“Startup Thailand 2018” ว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องและได้แสดงศักยภาพทางธุรกิจและความสามารถในการรังสรรค์แพลทฟอร์มใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์สังคมด้านต่างๆ แต่ถึงแม้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ก็ยังไม่เพียงพอที่จะให้ประเทศไทยเติบโตไปสู่แนวคิดสังคมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ โดยความท้าทายสำคัญจะอยู่ที่ การพัฒนาระบบนิเวศ ให้เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ และ วิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางสตาร์ทอัพ ของภูมิภาคเอเชีย

ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม ทั้งในไทยและต่างประเทศ ต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ต้องขอบคุณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนแพลทฟอร์ม Startup Thailand รวมถึงขับเคลื่อนกฎหมาย นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. สตาร์ทอัพ กฎหมายลดอุปสรรคการเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพ, พ.ร.บ. Sandbox – ให้สตาร์ทอัพมีพื้นที่ทดลองแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหา , การอนุญาตสตาร์ทอัพร่วมประมูลงานรัฐ เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้าถึงตลาดและนำแนวคิดไปแก้ปัญหา,Smart Visa – บ่มเพาะความสามารถของสตาร์ทอัพให้ก้าวสู่ระดับโลก, จัดซื้อจัดจ้างเชิงวิจัยภาครัฐ เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้ามาตอบโจทย์รัฐและสังคม , Bayh-Dole Act – ส่งเสริมการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพบนฐานเทคโนโลยี และย่านนวัตกรรม กลไกส่งเสริมการนวัตกรรมในระดับพื้นที่

ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ที่พร้อมที่จะดึงดูดและส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสตาร์ทอัพให้พร้อมนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาดำเนินธุรกิจ การสร้างกำลังคนที่มีความสามารถสำหรับตอบโจทย์อนาคต การพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์อย่างยั่งยืน ทั้งในระดับฐานรากไปถึงระดับแข่งขัน การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างผลกระทบ และสามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งด้วยแนวคิดของการเป็น Open Innovation Nation … ประเทศไทยจะเป็นประเทศสำหรับการลงทุน สร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ ที่นำไปสู่แนวคิดใหม่ที่ไม่สิ้นสุด และพร้อมจะนำเสนอนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับโลก ให้สมกับคำว่า “Thailand – Endless Opportunities” หรือ โอกาสไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับทุกคน

 

ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือการสร้าง “ระบบนิเวศ” เพราะระบบนิเวศที่ดีจะช่วยลดอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจนี้ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ มีนโยบายพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในไทย ทั้ง เสนอแก้กฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ พ.ร.บ.สตาร์ทอัพ โดยแยกออกจาก พ.ร.บ.เอสเอ็มอี พร้อมมุ่งเน้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1) ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจทั้งของไทยและชาวต่างชาติ โดยสตาร์ทอัพต่างชาติสามารถจดทะเบียนได้ 100% เป็นการดึงดูดสตาร์ทอัพต่างชาติมาเริ่มต้นธุรกิจมากขึ้น 2) ทำให้สตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สามารถขอแหล่งเงินทุนกับภาครัฐได้ 3) ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเติบโตแบบก้าวกระโดดเพื่อให้มีศักยภาพในการเติบโตสู่ตลาดโลก โดยการผลักดันเรื่องโปรแกรมเร่งสร้างการเติบโตและโปรแกรมบ่มเพาะ และ 4) ส่งเสริมการขยายการลงทุนสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียหรือตลาดโลกให้ได้ เป็นต้น

สำหรับงานดังกล่าวจะมีไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนและผู้สนใจทุกคนไม่ควรพลาดงานที่รวม 5 ความยิ่งใหญ่ที่สุด (BIGGEST) ของงานสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาไว้ในงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน