กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดระดมสมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อรับความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan) PDP ฉบับใหม่

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) ของประเทศไทย หรือ PDP ว่า แผน PDP เป็นแผนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ เป็นแผนระยะยาวจัดทำกรอบความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศระยะยาวในช่วง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งในการวางแผนมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกระบวนการในการมองภาพอนาคตว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดและปริมาณความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทยมีเท่าใด ขั้นตอนที่ 2 เข้าสู่กระบวนการที่จะจัดทำ คัดเลือกโรงไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าตามที่พยากรณ์นี้ และขั้นตอนที่ 3 คือ การนำขั้นตอนที่ 1 และ 2 มาประกอบการจัดทำแผน และตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขด้าน สถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า เงื่อนไขด้านเชื้อเพลิง เงื่อนไขด้านต้นทุน รวมทั้งเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับความยอมรับของประชาชนในพื้นที่

ในการจัดทำแผน PDP เพื่อพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมีสมมติฐานสำคัญที่ใช้พิจารณา คือ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงของประชากร การขยายตัวของเมือง รวมทั้งการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมหลัก ๆ ตามนโยบายรัฐบาล ตัวอย่างเช่น การใช้ไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง การใช้ไฟฟ้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การใช้ไฟฟ้าในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 จึงได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ ที่สะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาลและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงพิจารณากำลังการผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการและศักยภาพการผลิตในแต่ละภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิรูปด้านพลังงานด้วย

การปรับปรุงแผนฉบับใหม่นี้จะมีการนำสมมติฐานที่ใช้ในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา เช่น เรื่อง Disruptive Technology เทคโนโลยีที่เกิดใหม่ ตัวอย่างเช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เรื่องเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าใช้เอง มาตรการโรงไฟฟ้าเสมือน Virtual Power Plant เป็นต้น

“การวางแผน PDP มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง เพราะจะเป็นหลักประกันได้ว่า ประชาชนจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ โดยแผนฯ จะยึดหลัก 3E คือ Energy Security ความมั่นคงด้านพลังงาน Economic ด้านเศรษฐกิจ ที่คำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อลดภาระผู้ใช้ไฟฟ้า มีการปรับปรุงการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และสุดท้าย Ecology หรือ Environmental Friendly คือการวางแผนระบบไฟฟ้าที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากวางแผนฯ โดยใช้หลักสมดุลจาก 3E นี้ ก็จะทำให้ประเทศไทยมีระบบไฟฟ้าที่มั่นคง ต้นทุนไม่สูงเกินไป และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก” ดร.ทวารัฐกล่าว

ปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน โดย สนพ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็น (Open Forum) และรับทราบข้อแนะนำ เกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) ของประเทศไทย PDP ฉบับใหม่ เพื่อระดมสมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มอย่างกว้างขวาง ทั้งหน่วยงานกระทรวงพลังงาน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (กฟผ.-กฟภ.-กฟน.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้ประกอบการเอกชน นักวิชาการ คณะกรรมาธิการด้านพลังงาน สภานิติบัญญัติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านปฏิรูปพลังงาน ตลอดจน องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) และสื่อมวลชน โดยเดินสายรับฟังความคิดต่อเนื่องทั้งในเวทีกรุงเทพฯและภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2561 ตามมติ กพช. ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน