นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมด้วย นายประสงค์ คุ้มประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ขึ้นรับรางวัล Asia Responsible Entrepreneurship Awards 2018 ในสาขา Green Leadership เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคหน่วยงานเดียวของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ในฐานะองค์กรในภูมิภาคเอเชียที่มีความโดดเด่นในการดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากโครงการ “Smart Metro Poles for Thailand’s Coast Protection” ซึ่งเป็นโครงการที่ กฟน. นำเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนและไม่ใช้งานแล้วจากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในโครงการต่างๆ นำมาปักเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ณ Manila Marriott Hotel กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

ผู้ว่าการ กฟน. เปิดเผยว่า รางวัล Asia Responsible Entrepreneurship Awards 2018 สาขา Green Leadership ที่ กฟน. ได้รับเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภคเดียวในประเทศไทยนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของแนวคิดจากการนำเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน นำไปทำประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า โดยในปัจจุบัน กฟน. ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ดำเนินโครงการบนถนนพหลโยธิน พญาไท สุขุมวิท ศรีอยุธยา ราชปรารภ และพระรามที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร พร้อมส่งมอบเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนส่งมอบให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,344 ต้น เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชาของ กทม. ในการสร้างแนวป้องกันคลื่นช่วยฟื้นฟูและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน และภายใน 5 ปี (2561-2566) กฟน. มีเป้าหมายส่งมอบเสาไฟฟ้าในทุกโครงการเพื่อใช้กันคลื่นกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน จำนวน 10,000 ต้น เพื่อให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน เป็นระยะทางประมาณ 4.7 กิโลเมตร และมอบให้กองทัพเรือ เพื่อใช้ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ 5,000 ต้น รวมเป้าหมายการส่งมอบ 15,000 ต้น

ทั้งนี้ เสาไฟฟ้าของ กฟน. มีลักษณะเป็นแท่งคอนกรีต มีคุณสมบัติที่เหมาะสมแข็งแรง อายุการใช้งานนานประมาณ 30 ปี ซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่าเสาไม้ทั่วไปกว่า 30 เท่า อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นจากโครงสร้างลวดเหล็กภายในเสาไฟฟ้า ทำให้สามารถรับแรงดัดได้มากถึง 3.5 ตันเมตร หรือหักโค้งได้ประมาณ 7-8 เซนติเมตร ทำให้มีความแข็งแรงทนทาน สามารถลดความแรงของกระแสน้ำทำให้มีปริมาณการสะสมของตะกอนหลังเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ต้นกล้าและลูกไม้ที่อยู่หลังแนวป้องกันมีปริมาณหนาแน่นขึ้น รวมถึงฟื้นฟูธรรมชาติมีการกลับมาอาศัยของสัตว์น้ำนานาพันธุ์และนกนานาชนิด มีแนวโน้มการอยู่รอดเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดของ กฟน. มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 214.6 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564 ล่าสุดได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 43.5 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 20.3 และส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 171.1 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 79.7 อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กฟน. ยังมีแผนการดำเนินโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มเติมในพื้นที่ ถนนวิทยุ และพิจารณาเส้นทางอื่นๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจอีกด้วย

สำหรับงาน Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) 2018 จัดขึ้นเป็นปีที่ 10 โดย Enterprise Asia ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการทำประโยชน์แก่สังคมและสนับสนุนการเป็นองค์กรชั้นนำอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการในภูมิภาคเอเชียเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคและมีการมอบรางวัลประเภทต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยประกอบด้วยรางวัล 6 สาขา ได้แก่ Green Leadership Award, Investment in People Award, Health Promotion Award, Social Empowerment Award, Corporate Governance Award และ Responsible Business Leadership Award

กฟน. 60 ปี ก้าวสู่วิถีอนาคต
Leveraging beyond Tomorrow
“Smart Metro”
| ระบบไฟฟ้ามั่นคง บริการมั่นใจ ห่วงใยสังคม |

️ Website TH : http://www.mea.or.th/content/detail/87/3784
️ Facebook : https://www.facebook.com/METROPOLITAN.ELECTRICITY.AUTHORITY/posts/2184064411620684
️ Twitter : https://twitter.com/mea_news/status/1002823171244871681?s=21
️ GNews : https://gnews.apps.go.th/news?news=20376

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน