ผลงานวิจัย TILAVAC ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านวิทยาศาสตร์อาหารและสุขภาพ รุ่นจูเนียร์ (อายุไม่เกิน 40 ปี) และรางวัลสุดยอดนวัตกรรม (ประเภทบุคลากร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2559 อีกทั้ง งานวิจัยที่เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล-ปลาทับทิมรอดพ้นจากปัญหาปลาตาย ที่จะสูญเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลได้เป็นอย่างดี

น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ ภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปลานิลและปลานิลแดงจัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น จีน อินโดนีเซีย อียิปต์ ฟิลิปปินส์ และอิสราเอล เป็นต้น ในประเทศไทยปลานิลและปลานิลแดงจัดเป็นสัตว์น้ำจืดที่มีการเพาะเลี้ยงมากที่สุด (ประมาณ 200,000 ตันต่อปี) คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 9,700 ล้านบาทต่อปี มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้มากกว่า 300,000 ครอบครัว ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลและปลานิลแดงในประเทศไทย มักจะประสบปัญหาการระบาดของโรคตายเดือนโดยพบการตายในช่วงหนึ่งเดือนแรกที่ย้ายปลาลงเลี้ยงในกระชังหรือบ่อดินจึงเรียกว่า “โรคตายเดือน” อัตราการตายอยู่ระหว่าง 20-100 เปอร์เซ็นต์ ปัญหานี้ยังไม่มีใครทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ลูกปลาที่รอดตายจากปัญหานี้หรือที่ผ่านเชื้อขนาด 10-30 กรัม จะมีราคาสูงขึ้นอย่างน้อยตัวละ 2-4 บาท ประเมินความเสียหายจากปัญหาโรคตายเดือนจะมีจำนวนลูกปลาสูญเสียระหว่าง 200-300 ล้านตัว ถ้าลูกปลาราคาตัวละ 1 บาท มูลค่าทางเศรษฐกิจของปัญหานี้อาจสูงถึง 300 ล้านบาทต่อปี

ทางคณะผู้วิจัย จึงได้ศึกษาสาเหตุของปัญหาการตาย ในปลานิล พบว่า เชื้อที่ก่อโรคตายเดือนเป็น “ไวรัสชนิดใหม่” ที่เรียกว่า Tilapia Lake Virus (TiLV) ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนในประเทศไทย จากการวิจัยพบว่าปลาที่รอดตายจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้และไม่พบความเสียหายอีกตลอดช่วงเวลาที่เหลือของการเลี้ยง ดังนั้นการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ชนิดนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมนี้เป็นการพัฒนาวัคซีนทั้งในรูปแบบเชื้อตายและเชื้อเป็นเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ในปลานิลและปลานิลแดง รวมถึงกรรมวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อและการตรวจวินิจฉัยโรคในปลาที่ติดเชื้อ

TILAVAC เป็นวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ Tilapia Lake Virus (TiLV) ที่พบการระบาดและสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลและปลานิลแดง วัคซีนช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของปลามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ช่วยเพิ่มอัตราการรอดตายประมาณ 65-70% เปรียบเทียบกับปลาที่ไม่ได้รับวัคซีน ผลงานที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส วัคซีน และวิธีการตรวจเชื้อทั้งหมดอยู่ระหว่างการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำนวน 4 เรื่อง ทั้งนี้ TILAVAC ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านวิทยาศาสตร์อาหารและสุขภาพ รุ่นจูเนียร์ (อายุไม่เกิน 40 ปี) และรางวัลสุดยอดนวัตกรรม (ประเภทบุคลากร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2559

กลุ่มเป้าหมายที่จะนำวัคซีนชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์คือ ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลานิลและปลานิลแดง เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังและบ่อดิน ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปลานิลและปลานิลแดงประมาณ 300,000 ครอบครัว ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์จากการแก้ปัญหาโรคไวรัสอุบัติใหม่นี้ที่ประมาณ 100-300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการพัฒนาวัคซีนประกอบด้วยการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้ปริมาณเชื้อที่เพียงพอ การทำให้เชื้ออ่อนแรง (เชื้อเป็น) หรือฆ่าด้วยสารเคมี (เชื้อตาย) การเตรียมแอนติเจนสำหรับผลิตเป็นวัคซีน การพัฒนาวิธีตรวจหาปริมาณเชื้อในปลาที่ได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อในธรรมชาติ การพัฒนาวิธีตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันในปลาที่ได้รับวัคซีน และการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและภาคสนาม และเกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ช่วยให้เกษตรกรรอดพ้นจากปัญหาปลาตาย ที่จะสูญเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลได้เป็นอย่างดี

 

 

 

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน