สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้แนวคิด “ทำงานปลอดภัยไร้อาการ Office Syndrome” ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่โรงแรมเดอะพาราดิโซ เจเค ดีไซน์ จ.นครสวรรค์

นายชัยธนา ไชยมงคล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) สสปท. กล่าวว่า สสปท. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้แนวคิด “ทำงานปลอดภัยไร้อาการ Office Syndrome” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้มีทักษะความชำนาญในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานตาม “นโยบาย Safety Thailand” ที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของแรงงาน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในการปรับปรุงสภาพงาน และท่าทางการทำงานของตนให้ถูกต้อง โดยการจัดฝึกอบรมในปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ แล้ว

ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๗ จำนวนการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานที่เกิดขึ้นจากท่าทางการทำงาน พบว่า ปี ๒๕๕๓ มีจำนวน ๕,๒๓๔ ราย ปี ๒๕๕๔ จำนวน ๔,๗๕๔ ราย ปี ๒๕๕๕ จำนวน ๕๔๙๙ ราย ปี ๒๕๕๖ จำนวน ๓,๘๔๙ ราย และปี ๒๕๕๗ จำนวน ๓,๒๕๔ ราย ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะมีความรุนแรงมากขึ้นตามภาวะการเติบโตของสังคมเมืองและแรงงานที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งการประสบอันตรายจากลักษณะท่าทางการทำงานที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ อันดับหนึ่งคือ การปวดหลัง รองลงมามีอาการปวดบริเวณคอ ไหล่ และปวดศีรษะตามลำดับ โดยสาเหตุดังกล่าวเกิดจากท่าทางการทำงานไม่ถูกต้อง เช่น การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ปัญหาความเครียดและปัจจัยอื่นๆ ทั้งนี้อาการของโรคจะยิ่งทวีความรุนแรง ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคอยู่แล้ว เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับ “ภาวะออฟฟิศซินโดรม”

ด้วยเหตุนี้ สสปท. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวงแรงงาน จึงจัดทำ “โครงการป้องกันปัญหาออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome) เพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในสำนักงาน มีความเข้าใจหลักการสำคัญ ในการปรับปรุงสภาพงาน และท่าทางการทำงานของตนให้ถูกต้อง

กิจกรรมในครั้งนี้มีการจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) และการจัดฝึกอบรมให้กับหน่วยงาน และสถานประกอบการในพื้นที่ที่สนใจ โดยมีที่ปรึกษาจากสมาคมการยศาสตร์เป็นที่ปรึกษา และให้การสนับสนุนทางวิชาการ รวมถึงเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อการทำงานอย่างปลอดภัย

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน