ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ พร้อมคณะได้ให้การต้อนรับ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะผู้บริหารและนักโบราณคดี ในโอกาสมาเยี่ยมห้องปฏิบัติการไอโซโทปรังสี ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จัดตั้งขึ้นเพื่อการวิเคราะห์ทางสิ่งแวดล้อมและงานโบราณคดี ในโอกาสนี้ นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ ที่ปรึกษากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมให้การต้อนรับ

ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่ สทน. ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปรังสี และใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อตรวจวิเคราะห์หาอายุโบราณวัตถุด้วยคาร์บอน-14 มาเป็นเวลากว่า 10 ปี สทน. และกรมศิลปากร จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อร่วมกันศึกษา วิจัยและพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า ฟื้นฟูอนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของชาติ และได้มีโอกาสร่วมงานวิจัยกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในการวิเคราะห์ทองคำโบราณจากกรุวัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทองคำโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์จะถูกนำเสนอไว้ในพิพิธภัณฑ์ทองหลังใหม่ของพิพิธภัณฑ์ฯ เจ้าสามพระยาต่อไป

จากความต้องการของนักโบราณคดีของกรมศิลปากร ที่ต้องการใช้วิทยาศาสตร์มาสืบค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 สทน. และกรมศิลปากร จะเริ่มลงนามใน MOU ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการร่วมกันทำงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามโจทย์วิจัยของกรมศิลปากร คือ การกำหนดอายุด้วยเทคนิคคาร์บอน-14 นอกจากนั้น จะมีการพัฒนาการใช้เครื่องมือวัดรังสีแบบ OSL (Optically Stimulated Luminescence) ในการศึกษาคูเมืองโบราณในประเทศไทยที่มีมากกว่า 100 แห่ง การร่วมกันวิเคราะห์องค์ประกอบลูกปัดโบราณและจัดทำฐานข้อมูลลูกปัดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การวิเคราะห์ทองคำในประเทศไทย ตลอดจนการใช้เทคนิค NDT (Non Destructive Test) หรือการตรวจสอบโดยไม่ทำลาย ในการอนุรักษ์โบราณสถานของไทยด้วย ความร่วมมือในครั้งนี้ คงจะเป็นการอีกก้าวที่สำคัญในการนำวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนงานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อเติมเต็มข้อมูลสำคัญในการเรียงร้อยประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ชัดเจนถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ดร.พรเทพ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ปัจจุบันห้องปฏิบัติการไอโซโทป ของ สทน. นอกจากจะได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จำนวนหนึ่งจาก IAEA อีกด้วย สทน. ได้พัฒนาปรับปรุงห้องปฏิบัติการตลอดเวลา และเชื่อว่าห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมและโบราณคดีของ สทน. มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน