กรมควบคุมโรค เผย!!“โรคออฟฟิศซินโดรม”เป็นภัยเงียบด้านสุขภาพของคนวัยทำงาน ชี้!! พนักงานออฟฟิศที่ชอบนั่งแช่หน้าจอ โหมงานหนัก พักผ่อนน้อย เครียด ปวดศีรษะบ่อยๆ เสี่ยงต่อการเกิด “โรคออฟฟิศซินโดรม” เตือน!! หากไม่ปรับพฤติกรรม อาจลุกลามจนเกิดโรคร้ายแรง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แขนขาอ่อนแรงจนถึงขั้นเดินไม่ได้ แนะ!ป้องกันได้ด้วยหลัก “3 ป.” ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนบรรยากาศในที่ทำงานและหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า“โรคออฟฟิศซินโดรม”เป็นกลุ่มอาการเจ็บป่วยที่เกิดกับคนวัยทำงานหรือพนักงานออฟฟิศ มีสาเหตุมาจากรูปแบบหรือลักษณะงานที่ทำเช่นการนั่งอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งในอิริยาบถเดิมๆซ้ำๆต่อเนื่องเป็นเวลานาน จากการโหมงานหนัก พักผ่อนน้อย จากความเครียดและความกดดันจากการทำงาน เป็นต้น โดยอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อยมี 3 กลุ่มอาการได้แก่ 1. อาการทางระบบการมองเห็น อาการในกลุ่มนี้เกิดจากการมองจอคอมพิวเตอร์นานๆ หรือนั่งทำงานอยู่ในตำแหน่งที่มีแสงไม่เหมาะสม 2.อาการทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการนั่งทำงานในห้องปรับอากาศที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวกหรือห้องที่มีมลภาวะจากหมึกเครื่องพิมพ์ หมึกเครื่องถ่ายเอกสารเป็นต้น และ3. อาการทางระบบกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่พบได้บ่อยสุด ส่วนใหญ่มาด้วยอาการปวดหรืออาการเมื่อยล้า ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยที่เข้าได้กับกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55 เป็น ร้อยละ 60 แต่ในประเทศพัฒนาพบมากถึงร้อยละ80 และมักพบในช่วงอายุวัยทำงานคือ 16 – 44 ปี

“โรคออฟฟิศซินโดรม”ถือเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพซึ่งแฝงมากับอาการที่ใครหลายคนมองข้าม ดังนั้นคนวัยทำงานหรือพนักงานออฟฟิศควรมั่นสังเกตอาการของตัวเอง หากมีอาการ เช่น ปวดศีรษะร้าวมาถึงตา มีอาการปวดไมเกรนบ่อยๆ เนื่องจากการใช้สายตาเป็นเวลานาน ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดตามต้นคอ แขน ข้อมือ นิ้วมือ จากการนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ บางทีอยู่เฉยๆก็ปวดขึ้นมาเอง มีอาการเจ็บ ตึงและชาตามมือตามแขน เส้นยึด และนิ้วล็อค ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากอาการปวดที่เป็นแล้วไม่หาย เครียด นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท หากมีอาการเหล่านี้อย่านิ่งนอนใจเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคออฟฟิศซินโดรม หากปล่อยไว้โดยไม่บำบัดหรือไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว เช่น การเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด แขนขาอ่อนแรง และอาจรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆจนทำให้เดินไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัดหรือต้องผ่าตัด และทำให้เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าจากความเครียดสะสม รวมทั้งเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จากการทานอาหารจุบจิบในเวลาทำงานและไม่มีเวลาออกกำลังกาย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวแนะนำว่าเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม ขอแนะนำให้ชาวออฟฟิศทุกคนหันมาใส่ใจดูแลตัวเองด้วยการปรับสมดุลในที่ทำงาน โดยยึดหลัก “3 ป.” คือ 1. ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา วางคีย์บอร์ดให้อยู่ในระดับข้อศอกทำมุม 90 องศา นั่งหลังตรงให้หลังชิดกับพนักพิง วางเท้าลงบนพื้นให้ขาทำมุม 90 องศา วางข้อมือให้ตรง ไม่บิดหรืองอข้อมือ 2. เปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางการทำงาน ปรับท่าทางขณะพักโดยยึดหลัก “10-20-60” คือ ทุก 10 นาทีให้พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วไปเดินเล่นและเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 20 นาที เมื่อครบ 60 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและแขน โดยการบริหารต้นคอ สะบัก ไหล่ แขน มือ เอว หลัง ขาและปรับอิริยาบถเสมอๆเพื่อลดการปวดเมื่อย 3.ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ

สำหรับผู้ที่มีอาการเข้าข่ายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรังที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาในภายหลัง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน