ค่านิยมของคนส่วนใหญ่ที่นิยมส่งให้ลูกหลานเรียนระดับมหาวิทยาลัยเพื่อจบมารับราชการ มีรายได้มั่นคง เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลเป็นมุมมองที่น่าสนใจและยึดถือกันมาตลอดแม้ว่าในความจริง การเรียนจบระดับปริญญาและการรับราชการอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในวันนี้

ปัจจุบันรัฐนำเสนอค่านิยมการเรียนอาชีวศึกษาเพื่อให้จบแล้วมีงานทำ รวมทั้งการกระจายโอกาสและรายได้ลงสู่ท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ในบางชุมชนบางพื้นที่ก็ยังมีค่านิยมในการส่งบุตรหลานให้ไปสู่ระดับอุดมศึกษาเพื่อต้องการปริญญาบัตรเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลอยู่เช่นเดิม

ชุมชนตะโหมด ที่อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เป็นชุมชนเกษตรกรรมติดเทือกเขาบรรทัด ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาไร่สวนที่ได้ผลดียิ่ง ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเอื้ออำนวย ประชากรมีรายได้ดี ประกอบกับรอบๆ ชุมชนมีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง จึงเป็นปัจจัยดียิ่งที่ทำให้ชุมชนตำบลตะโหมดและท้องถิ่นแถบนี้ยังคงค่านิยมในการส่งลูกหลานเรียนในระดับอุดมศึกษา

โรงเรียนประชาบำรุง โรงเรียนประจำตำบลตะโหมดประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาที่สนองตอบความต้องการของผู้เรียนด้วยตัวเลขการศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายและการเข้าเรียนอุดมศึกษาในอัตราที่สูงอย่างน่าภูมิใจ แต่อย่างไรในทุกๆ ชุมชนย่อมมีครอบครัวอีกส่วนหนึ่งที่ฐานะยากจน นักเรียนประชาบำรุงจำนวนไม่น้อยทั้งที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นดั้งเดิม หรือเป็นประชากรแฝงที่ครอบครัวเข้ามาในชุมชนเพื่อทำงานที่มีฐานะยากจนและขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน หรือเกิดในครอบครัวหย่าร้างอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย อยู่ในสถานะเด็กด้อยโอกาสและขาดความอบอุ่น

สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของตัวนักเรียนเองและก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ซึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาของตัวเด็กเองประกอบกับรูปแบบการเรียนรู้ในห้องเรียนยังเป็นรูปแบบเดิมๆ ทำให้เด็กไม่สนใจการเรียน ทางคณะครูของโรงเรียนประชาบำรุงจึงคิดวิธีปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ของกลุ่มเด็กด้อยโอกาสโดยให้เขาค้นพบวิธีการเรียนรู้ตามความต้องการของตนเอง

“เรามีต้นทุนทางสังคมอยู่แล้ว เราจึงคิดให้เด็กสร้างความรักและสร้างการเรียนรู้ในอาชีพต่างๆ สร้างความภูมิใจในอาชีพท้องถิ่นและเกิดความรักชุมชน โดยใช้แหล่งเรียนรู้อาชีพต่างๆ ในชุมชน 8 อาชีพ” นายพรศักดิ์ ชุมทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนประชาบำรุง เล่าถึงแนวคิดของการทำ “โครงการสร้างพลังการเรียนรู้โดยผ่านการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ของชุมชน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส

โครงการสร้างพลังการเรียนรู้โดยผ่านการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ของชุมชน คัดเลือกแหล่งเรียนรู้ทั้งหมด 8 แห่ง ซึ่งเป็นอาชีพที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว คือ ค้าขาย ทำขนม ซ่อมรถ ตีเหล็ก เลี้ยงผึ้ง เพาะเห็ด เสริมสวย และจัดดอกไม้ เพื่อให้นักเรียนในกลุ่มเป้าหมายจำนวน 40 คนได้เลือกที่จะไปเรียนรู้อาชีพต่างๆ เหล่านั้นจากแหล่งเรียนรู้ในชุมชนตามความสนใจจำนวน 10 ครั้งๆ ละ 3 ชั่วโมง รวมเป็น 30 ชั่วโมง

“วิธีการทำงานจะเป็นกระบวนการให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เด็กนักเรียนไม่เพียงได้เรียนรู้อาชีพต่างๆ ตามแหล่งเรียนรู้ที่สนใจเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือเด็กได้สร้างกระบวนการเรียนรู้และเกิดทักษะในการค้นคว้าความรู้ด้วยตนเองอีกด้วย”ผอ.พรศักดิ์ อธิบาย

“ไม่เป็นภาระอะไรเลย ดีเสียอีกที่เราได้คนมาช่วย นอกจากเรียนรู้เรื่องเห็ด เด็กๆ ยังได้หัดทำกับข้าวด้วย เป็นการถ่ายทอดความรู้ของชุมชนไปยังเด็ก และเด็กยังมีรายได้จากการเพาะเห็ดเป็นรายได้เสริม ซึ่งทางเราก็ภูมิใจ และพ่อแม่ของเด็กๆ ก็ดีใจและภูมิใจ” ปราณี ตามแก้ว หัวหน้ากลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้าบ้านป่าปรง หมู่บ้านติดกับโรงเรียนประชาบำรุงบอก

“ที่บ้านเป็นร้านเสริมสวย หนูไม่เคยช่วยแม่เลย แต่พอได้ไปเรียนรู้ในกลุ่มอาชีพเสริมสวยกลับมารู้สึกรักในอาชีพนี้ รู้สึกดีมาก ตอนนี้อยากทำงานที่บ้านอยากช่วยแม่ทำร้านทุกวัน” คำบอกเล่าของ เพชรลดา ชินรี นักเรียนในกลุ่มอาชีพเสริมสวย คงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในความสำเร็จของโครงการที่ทำให้เด็กหันมาสนใจอาชีพ และภูมิใจในสิ่งที่ทำ

ไม่เพียงแต่การเรียนเพาะเห็ดช่วยสร้างรายได้เสริม การเรียนเสริมสวยทำให้ภูมิใจอาชีพของทางบ้าน การเรียนจัดดอกไม้ทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจในความสามารถตนเอง การเรียนซ่อมรถสามารถไปประยุกต์ใช้งานจริงได้ หรือการเรียนรู้ทำขนมพื้นบ้านจะช่วยให้เกิดอาชีพและสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเท่านั้น กระบวนการเรียนรู้ที่นักเรียนเริ่มต้นเองจัดการเองโดยไม่มีครูเข้าไปยุ่งเกี่ยวช่วยให้เกิดทักษะด้านต่างๆ มากมายเพราะนักเรียนจะบันทึกความรู้ด้วยการเขียนเรียบเรียงประสบการณ์ที่ได้รับภายใต้ความเข้าใจของตนเอง มีการนำข้อมูลที่ได้ประกอบด้วยสมุดบันทึก ภาพถ่าย และภาพวีดิโอ มารวมรวมและเรียบเรียงเพื่อนำเสนอในที่ประชุมรวมถึงการถอดบทเรียนและสรุปด้วยตนเอง

“นอกจากความรู้ในอาชีพและการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการนี้ทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน มีพัฒนาการที่ดีขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น เกิดภาวะผู้นำ เรียนรู้วิธีการค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง รู้จักการนำเสนอ เป็นการค้นพบตัวเองมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น” คุณครูภมร พลเพชร หัวหน้ากลุ่มวิชาการโรงเรียนประชาบำรุง ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าถึงความสำเร็จของการดำเนินงาน

โครงการสร้างพลังการเรียนรู้โดยผ่านการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ของโรงเรียนประชาบำรุง เป็นต้นแบบที่น่าสนใจอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะส่งเสริมทักษะอาชีพเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสแล้ว ยังเป็นการฝึกกระบวนการสร้างพลังเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการทั้งด้านความคิดและบุคลิกภาพ และทักษะต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ทำให้มั่นใจได้ว่าต่อไปเด็กเหล่านี้จะเรียนต่อหรือไม่ในระดับใด ไปอยู่ที่ใด เติบโตและทำงานในชุมชนหรือไปอยู่ที่อื่น ก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน