ดร.พีรพงษ์ พรวงศ์ทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา (หัวหน้าโครงการวิจัย) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปณกมล ทองหล่อ ภาควิชาฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ ดร.พันธุ์ศักดิ์ เกิดทองมี คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ คว้ารางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) และรางวัลพิเศษจาก Indian Innovators Association ผลงาน “ระบบพลาสมาดิสชาร์จเพื่อการบำบัดสารอินทรีย์ปนเปื้อนที่เป็นพิษในน้ำใต้ดิน” จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในงาน The 10th International Exhibition of Inventions (IEI) และ The 3rd World Invention and Innovation Forum ณ เมือง Foshan ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561

ปัจจุบัน การปนเปื้อนของมลพิษต่างๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจกรรมของมนุษย์เป็นแหล่งมลพิษที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ หากน้ำเสียเหล่านี้ถูกปล่อยลงสู่ธรรมชาติก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำดื่ม ในปัจจุบันพบว่าแหล่งน้ำของชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นพิษ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากการอุปโภคบริโภคน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำหลายๆ แห่งได้ถูกปิด ทำให้ใช้ประโยชน์ไม่ได้

ระบบบำบัดสารอินทรีย์ที่เป็นพิษน้ำใต้ดิน โดยไม่ต้องเติมสารเคมีเหมือนกระบวนการออกซิเดชันขั้นสูงที่ใช้ในการกำจัดสารอินทรีย์ที่เป็นพิษ ชุดต้นแบบเป็นระบบกำเนิดพลาสมา เมื่อมีพลาสมาเกิดขึ้น พลาสมาจะสร้างองค์ประกอบทางเคมีฟิสิกส์ต่างๆ เช่น โอโซน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และแสง อัลตราไวโอเล็ตจาก ไอน้ำ องค์ประกอบนี้จะเอื้อให้เกิดการสร้างสารอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดสารปนเปื้อนอินทรีย์ที่เป็นพิษในน้ำเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในกระบวนการออกซิเดชันขั้นสูง

จากการทดสอบการบำบัดสารอินทรีย์ก่อมะเร็งที่ย่อยสลายได้ยากในสิ่งแวดล้อม 2 ชนิด ได้แก่ ไตรคลอโร เอทิลีน และ 1,4-ไดออกเซน ซึ่งเป็นตัวทำละลายที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทและเป็นสารเคมีปนเปื้อนที่มักพบในแหล่งน้ำดื่มใต้ดิน พบว่าต้นแบบระบบบำบัดสารอินทรีย์ปนเปื้อนในน้ำโดยใช้พลาสมามีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดไตรคลอโรเอทิลีนและ 1,4-ไดออกเซนโดยใช้ระยะเวลาในการบำบัดสั้น นอกจากนี้ ยังสามารถบำบัดสารเคมีอินทรีย์ที่ปนเปื้อนและลดความเป็นพิษของน้ำจากแหล่งปนเปื้อนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ได้อีกด้วย ต้นแบบระบบบำบัดสารอินทรีย์ปนเปื้อนโดยใช้พลาสมาอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบำบัดน้ำเสีย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย

นับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ช่วยบำบัดน้ำเสีย และรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยใช้องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผลงานวิจัยพัฒนานวัตกรรม สร้างความภาคภูมิใจให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และประเทศไทย เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่สาธารณชนทั้งในเวทีระดับชาติและนานาชาติ4

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน