ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) และประธานหลักสูตรคณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม กล่าวต้อนรับผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการระดับชาติและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ครบเครื่องเรื่องการแปลงโฉมธุรกิจในสี่มิติ Four Dimensions of Business Transformation Showcases” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ.

ผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้เตรียมพร้อมรับมือสิ่งใหม่ๆ

คณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม มจพ. มีความเชื่อมั่นว่า การจะทำให้อุตสาหกรรมไทยสามารถก้าวต่อไปและแข่งขันกับประเทศอื่นในยุค 4.0 ได้นั้น จำเป็นต้องเริ่มสร้างความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนตั้งแต่วันนี้ ด้วยการปรับโครงสร้างการทำงานจากกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้ก้าวไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าและความซับซ้อนสูงขึ้น โดยผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางด้านความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

การสัมมนาครั้งนี้ ครอบคลุม 4 มิติ เป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจในทุกองค์กร ประกอบด้วย Strategic Transformation, Business Process Transformation, Digital Transformation และ HR Transformation

ซึ่งจะทำให้ทราบถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนธุรกิจตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 และชี้ให้เห็นมุมมองในหลากมิติของการทำงาน รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อต่อยอด S-Curve เดิมที่กำลังจะถึงจุดอิ่มตัว หรือ S-Curve ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยนำเสนอแนวคิดในการทำ Business Transformation ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ความสำเร็จในทุกมิติ จากผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์น่าเชื่อถือในระดับประเทศ

ผศ. (พิเศษ) ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แบ่งปันเรื่องราวด้าน Strategic Transformation หรือกลยุทธ์องค์กรไว้ว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ตามแนวนโยบายของรัฐบาลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ค่า GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) เติบโต แต่เป็นการทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจสมดุล ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเติบโตอย่างทั่วถึง และผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่

นอกจากนั้นตัวบุคลากรภายในองค์กรต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนความคิดและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยด้วย เพื่อความอยู่รอด เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อองค์ประกอบของดีมานไม่ใช่ราคาเพียงอย่างเดียว แต่คือความสุขในการอุปโภคบริโภคสิ่งนั้นๆ องค์กรต้องรู้จักที่จะใช้เทคโนโลยี สรรหานวัตกรรม และสร้างอัตลักษณ์ให้กับตนเอง พร้อมทั้งกำหนดวัฒนธรรมองค์กรใหม่ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้จะมาถึง

“สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ “ทำใจ” ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมาแน่นอน และต้องทำใจที่จะเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงด้วย เพราะสิ่งแรกที่ควรเปลี่ยนคือ ใจคน” ดร.สมชายกล่าวทิ้งท้าย

คุณบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงลักษณะ Business Transformation ว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยมีลักษณะเป็น S-Curve กล่าวคือ เมื่ออุตสาหกรรมรูปแบบเก่ากำลังจะดรอปลง ก็จะมีอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ค่อยๆ เริ่มต้นมาแทนที่

ดังนั้นการจะอยู่รอดในยุคปัจจุบัน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องรู้จักปรับตัว ปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและวิธีการปฏิบัติ อย่าไปยึดติดกับความสำเร็จในอดีต เพราะวิธีการเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้กับยุคนี้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่ออนาคต มองการณ์ไกล และต้องมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจของตน “ซึ่งการปรับเปลี่ยนทั้งหมด ต้องเริ่มต้นที่คน เพราะคนจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสิ่งอื่นๆ ต่อไป”

คุณสุวรรณชัย โลหวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แบ่งปันประสบการณ์ด้าน Digital Transformation ว่า ปัจจุบันรูปแบบการค้าได้เปลี่ยนไปแล้ว ทำให้ธุรกิจทุกขนาดรวมถึง SME ต้องพัฒนาตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเริ่มต้นด้วยการปรับวิธีคิด จากเดิมที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายในการทำธุรกิจ หรือตั้งเป้าหมายระยะสั้น มาเป็นการตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น มองปลายทางให้ชัดเจนขึ้น ว่าต้องการเจาะตลาดรูปแบบไหน เพราะสสว.เชื่อมั่นว่า “ถ้าสู้ในที่ที่ใช่ อย่างไรก็ชนะ” เช่น ตั้งเป้าหมายว่า ธุรกิจของตน จะก้าวไปสู่ธุรกิจระดับเอเชีย เริ่มจากการส่งออกสินค้าไปยังประเทศมาเลเซีย

เมื่อได้เป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ พัฒนาต่อยอดตนเองให้ไปถึงเส้นชัยที่วางไว้ ด้วยการแสวงหาความรู้ที่จะมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้ ทางสสว.เอง พร้อมที่จะผลักดันผู้ประกอบการทุกรูปแบบ ด้วยการสร้าง SME Connext แอปพลิชันเพื่อผู้ประกอบการ SME และผู้ที่สนใจจะริเริ่มทำธุรกิจ สำหรับใช้หาความรู้เพิ่มเติม และเป็นช่องทางหนึ่งในการขยายธุรกิจ แอปฯ นี้เกิดจากการร่วมมือระหว่าง สสว. และหน่วยงานภาครัฐกว่า 70 หน่วยงาน ที่อยากร่วมกันส่งเสริม SME ในทุกมิติ อาทิ ด้านการตลาด, ความสามารถในการผลิต หรือการจัดการองค์กรและทรัพยากรคน

ดร.สุทธิพงษ์ สุวรรณสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ส่วนงานทรัพยากร บริษัท TOYOTA Leasing (Thailand) Co.,Ltd. กล่าวถึงเรื่อง HR Transformation ไว้ดังนี้

การเตรียมคนเพื่อรองรับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ก้าวผ่านไปสู่จุดหมายได้ จำเป็นต้องทำให้เทคโนโลยีและการใช้ชีวิตในปกติ มีความสมดุลกัน เทคโนโลยีมีได้แต่อย่ามากเกินไป เพราะคนยังเป็นกำลังสำคัญในการทำงานทุกอย่าง หากหมกมุ่นเกินไป จะทำให้คนสูญเสียสิ่งสำคัญอย่าง Creative Thinking ได้ อย่าน้อยเกินไป เพราะจะทำให้ธุรกิจของท่านก้าวไม่ทันคู่แข่งและนานาประเทศ

การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมขององค์กร จะทำให้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ ด้านคนส่วนน้อยนั้น องค์กรสามารถยกตัวอย่างจากสถานการณ์จริงให้เขาเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่เปลี่ยนได้ ซึ่งหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานต้องมีส่วนร่วมในการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน อีกวิธีการคือ ทำให้คนที่ประสบความสำเร็จเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง จนเป็นโมเดลที่ดีให้กับคนอื่นได้ จะทำให้คนอื่นๆ เกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างอัตโนมัติ

สิ่งสำคัญอีกอย่างของ HR Transformation คือการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาคนเพื่ออนาคต ภาคธุรกิจบ่งบอกถึงความต้องการของตน เพื่อให้สถาบันการศึกษาพัฒนารูปแบบการเรียนที่สอดรับกับความต้องการของตลาด อันจะทำให้เด็กจบใหม่ทำงานเป็น ดำรงชีพเป็น และพัฒนาสิ่งต่างๆ เป็น โดยอาจผลักดันให้เกิด Start Up ตั้งแต่วัยเรียน รณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สนับสนุนให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบของตัวเอง

ประสบการณ์และองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ท่านที่ได้แบ่งปันในงานนี้ จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่าน (Transform) ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 สามารถเริ่มได้ด้วยการปรับความคิดของคนในองค์กร ถ้าเปลี่ยนแปลงความคิดได้ สิ่งอื่นๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ซึ่งอาจเป็นเรื่องยาก หากคนจำนวนน้อยต้องไปเปลี่ยนความคิดคนจำนวนมาก แต่เราสามารถทำให้ง่ายขึ้นได้ ด้วยการเริ่มที่ “ตัวเรา” ต่างคนต่างค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร และระดับประเทศต่อไป เพื่อผลักดันให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยก้าวไกลทันนานาชาติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน