หาก “วัคซีน” คือแนวทางในการทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ต้านทาน ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้เช่นนั้นแล้วเราจะมีวัคซีน ที่สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการโกง ตลอดจนปัญหาการทุจริตได้หรือไม่?

ฟังดูคล้ายจะเป็นคนละเรื่อง หากแต่การสร้างฐานความคิดตั้งแต่ทุกช่วงวัย ให้รู้จักแยกแยะสิ่งถูกผิด ผลประโยชน์ส่วนตน ผลประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนปลูกฝังความคิดจิตสาธารณะล้วนเป็นดั่งการสร้างภูมิคุ้มกันนำไปสู่สังคมที่ปลอดการทุจริต ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต จึงเป็นที่มาของหลักสูตรต้านทุจริต (Anti-Corruption Education) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ป.ป.ช.เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสถาบันการศึกษา นำหลักสูตรดังกล่าวไปพิจารณาปรับใช้กับกลุ่มเป้าหมาย ผ่าน 5 หลักสูตรดังนี้

  1. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต
  2. หลักสูตรอุดมศึกษา : วัยใสใจสะอาด
  3. หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ : หลักสูตรตามแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ
  4. หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช. บุคลากรภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ : สร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

5.หลักสูตรโค้ช : เพื่อการรู้คิดต้านทุจริต

ทั้ง 5 หลักสูตรจะเรียนรู้เนื้อหา 4 อย่างคือ

  1. รู้จักคิดแยกแยะประโยชน์ส่วนตน และส่วนรวม
  2. ละอายต่อการทุจริต
  3. มีจิตพอเพียง ต้านทุจริต
  4. มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งนี้ หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) จะเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะให้แก่ผู้เรียนหรือผู้ผ่านการอบรมในการคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตน กับผลประโยชน์ส่วนรวม มีความอาย ความไม่ทนต่อการทุจริต มีจิตพอเพียงตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อร่วมกันป้องกัน ต่อต้านการทุจริต มิให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อสร้างสังคมไทยที่ไม่ทนต่อการทุจริตต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน