สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2562 ภาคกลางและภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 9 – 11 มกราคม 2562 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา” ในวันที่ 9 มกราคม 2562 เวลา 13.30 น.

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคนและสังคมไทยให้เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศในการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้สู่การร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพซีวิตและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2560 – 2579 และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ที่มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่ง วช. ได้มีการจัดวางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในการเร่งพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะที่สำคัญ และมีสมรรถนะตรงตามต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปีงบประมาณ 2562 วช. จึงได้กำหนดจัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก และจะจัดขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ อีก ดังนี้ ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 17 – 19 มกราคม 2562 ณ โรงแรม หัวหิน แกรนด์ โฮเทล แอนด์ พลาซ่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 11 – 13 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมวังจันทร์ ริเวอร์วิว จังหวัดพิษณุโลก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระว่างวันที่ 21 – 23 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โดยในปีนี้ ได้จัดแบ่งกลุ่มเรื่อง เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ใน 4 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1) กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2) กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3) กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ศิลปะและการออกแบบ และ4) กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

การจัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสายอาชีวศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจในการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์ รวมถึงการขยายเครือข่ายในการบ่มเพาะนักประดิษฐ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเน้นนักศึกษาอาชีวศึกษาที่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการวิจัยและพัฒนาต่อยอด และสร้างมูลค่าสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสังคมต่อไป


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน