นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่สำนักงานเขตราชเทวีและด่านการทางพิเศษดินแดงเพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 แจกหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และประชาชนที่เดินทางสัญจรไปมา ว่าอย่าตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ปัญหาฝุ่นละอองสิ่งสำคัญคือการป้องกันตัวเองไม่ให้ร่างกายไปสัมผัสกับฝุ่นละออง พยามหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองจำนวนมาก เพราะภาวะที่ฝุ่นละอองที่มีจำนวนมากๆนั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นตลอดทั้งวันแต่จะเกิดเป็นช่วงเวลาโดยจะเกิดขึ้นมากในช่วงเช้า ดังนั้นช่วงเช้าของวันหากอยู่ในบ้านยังไม่ต้องรีบเปิดประตูหน้าต่าง เพราะอากาศหนักจะทำให้ฝุ่นละอองลงตกมาอยู่ที่พื้นได้ และควรช่วยกันลดปริมาณฝุ่นควันจากการเผาขยะ การขับรถควันดำ หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนอย่าให้มีฝุ่นละอองโดยการเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำ อย่าใช้การกวาดเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย ถ้าไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นละอองมากก็สามารถใช้หน้ากากธรรมดาช่วยลดการสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปได้ และควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ถ้าจำเป็นต้องไปทำงานในจุดที่มีฝุ่นละอองจำนวนมากเป็นเวลานานๆ หรือต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจรหรือทำงานการทางพิเศษ แนะนำให้ใช้หน้ากากพิเศษ N95 และต้องใส่ให้ถูกวิธีด้วยเพื่อผลในการป้องกัน

นายแพทย์สุขุม ยังกล่าวอีกว่าอีกเรื่องที่สำคัญคือผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกลุ่มที่เสี่ยงเช่นผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคความดันโรคหัวใจ เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ หรือสตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ หากสัมผัสกับฝุ่นละอองอาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ไวและมาก ถ้าหากมีอาการผิดปกติ เช่นแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบากหอบเหนื่อยง่ายหายใจมีเสียงหวีดๆ ต้องรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับบริการรักษาทันที

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกทม.และปริมณฑลโดย

1.เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ระดับกระทรวงติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์

2.เร่งสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน สื่อสารความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อหลัก สื่อโซเชียล เว็บไซต์ของหน่วยงานในสังกัด

3.ให้ความรู้เชิงรุก จัดทีมพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกให้ความรู้ประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยงเช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

4.จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อจัดทำชุดความรู้ที่ถูกต้องสำหรับประชาชนและกลุ่มเสี่ยง

5.รณรงค์สร้างความตระหนักแก่ประชาชน เด็กนักเรียน ลดการเผาขยะในที่โล่งแจ้งในเขตกทม.และปริมณฑล ไม่ใช้รถควันดำ

6.เฝ้าระวังผู้ป่วย โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ในโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 22 แห่ง

7.เตรียมโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งให้พร้อมดูแลประชาชน

“ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลการดูแลตนเองจากเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th คลิกที่หัวข้อ ภัยสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 (กทม. และปริมณฑล) เพื่อดูระดับความเสี่ยงในพื้นที่และวิธีการปฏิบัติตัว”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน