เมื่อพูดถึงเรื่องการนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับรังสี หรือพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ คนในบ้านเรามักจะมองว่าเป็นเรื่องน่าตระหนก ทั้งที่เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีการนำไปใช้ประโยชน์มากมายในแทบทุกภาคส่วน ทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม การส่งออก ด้านอาหาร ฯ จึงเป็นภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จึงเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และไม่เกิดผลกระทบต่อสังคม

ผศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรังสีและเทคโนโลยีนิวเคลียร์อยู่ในวงจำกัด เพราะขาดแคลนเครื่องมือที่ใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอน ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาแพง เมื่อเครื่องมือเกิดความเสียหายโรงเรียนก็ไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม การเรียนรู้จึงไม่ค่อยบรรลุผลและขาดความต่อเนื่อง สทน. ดำเนินการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ให้ครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการแนะนำและให้ความรู้พื้นฐานแก่ครู โดยร่วมมือกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ส่งครูไปอบรมในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เพื่อนำความรู้ด้านรังสีและวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์กลับมาประยุกต์เข้ากับหลักสูตรการเรียนสารสอน นอกจากนี้ยังได้มอบเครื่องมือวัดรังสีที่ สทน.พัฒนาขึ้นเอง ให้แก่โรงเรียนเพื่อนำไปใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ให้แก่นักเรียน เมื่อนำเครื่องมือวัดรังสีไปใช้แล้วเกิดความเสียหาย โรงเรียนยังสามารถส่งมากลับมาให้ สทน. ซ่อมบำรุงและนำกลับไปใช้ต่อได้ การดำเนินการในระยะแรก สทน. ตั้งเป้าขยายการเรียนรู้ใน 50 โรงเรียน ในระยะต่อไปจะพยายามขยายการเรียนการสอนด้านรังสีและวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ไปสู่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ

นางสาวยุวดี สุวรรณ์ ครูชำนาญการ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ กล่าวว่า จากการที่ สทน. ได้ส่งไปอบรมที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากญี่ปุ่นมีโรงงานพลังไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่แล้ว จึงให้ความสนใจและส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องนิวเคลียร์ตั้งแต่ช่วงเด็กประถม เพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์และโทษของพลังงานนิวเคลียร์ ตลอดจนวิธีป้องกันอันตราย เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยลดความกลัวในเรื่องนี้ได้ สำหรับความรู้ที่ได้จากการไปอบรมจะนำไปสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กนักเรียนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวอย่างที่เข้าใจ เพื่อปลูกฝังให้ความรู้ด้านนี้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

นายธนพงษ์ ลิมปะจีระวงษ์ ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เพชรบุรี กล่าวว่า หลักสูตรในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการเรียนรูเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์น้อย จึงทำให้คนขาดความสนใจ และขาดความความเข้าใจที่ถูกต้อง คนจึงมักมองว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว ทั้งที่พลังงานนิวเคลียร์มีการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากมาย หากมีการนำความรู้ ประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันไปสอดแทรกในหลักสูตร จะเป็นการสร้างความความเข้าใจที่ถูกต้อง และปลูกฝังให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน