พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีความน่ากังวลตรงที่มีแหล่งน้ำต้นทุนของตัวเองน้อยมาก ไม่ว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา ความจุรวมแล้วถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการใช้น้ำที่มากกว่ามหาศาล

แต่ลุ่มเจ้าพระยาก็มีความวิเศษ ตรงที่เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ไพศาล เป็นเส้นทางผ่านของแม่น้ำเจ้าพระยาที่นำพาความอุดมสมบูรณ์จากด้านบนลงสู่ปากอ่าวไทย

การชลประทานสมัยใหม่ของประเทศไทยถือกำเนิดใน พ.ศ.2445 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ด้วยแนวคิดที่จะพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ผลิตข้าวเพื่อการส่งออกตอบสนองความต้องการของตลาดโลก

เป็นที่มาของเขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา เขื่อนทดน้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และตามมาด้วยการสร้างแหล่งน้ำต้นทุนขนาดยักษ์อย่างเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.น่าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้พื้นที่ลุ่มน้ำแห่งนี้

พื้นที่ท้ายน้ำมีน้ำสมบูรณ์ แล้วพื้นที่ต้นน้ำเล่าจะปล่อยให้อดน้ำอยู่ได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานด้านบน

“สถิติการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จากปี 2543-2555 พบว่ามีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนเมืองและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 10% ในขณะพื้นที่ตอนบนเองมีการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้พื้นที่ต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำทั่วถึงและเป็นธรรมในการใช้น้ำ จึงจำเป็นต้องพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในภาคเหนือเพิ่มขึ้น” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกล่าว

เป็นที่มาของการก่อสร้างเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ นอกจากกักเก็บน้ำต้นทุนแล้ว ยังหน่วงน้ำบรรเทาอุทกภัยด้านท้ายน้ำด้วย ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงการวางแผนปลูกพืชใช้น้ำน้อยในพื้นที่ท้ายน้ำ เพื่อลดการใช้น้ำในปีน้ำแล้งด้วย

มองภาพรวมจะเห็นว่า เชียงใหม่ ลำพูน ที่เป็นต้นน้ำได้ใช้น้ำ เช่นเดียวกับลุ่มเจ้าพระยาที่อยู่ด้านล่าง

เป็นเหตุผลเช่นเดียวกับการก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ที่นอกจากส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานแม่กลองครบถ้วนแล้ว ยังนำมาใช้ในลุ่มน้ำท่าจีนที่อยู่ใกล้เคียงกัน และผันน้ำมาช่วยพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่างในปีที่น้ำน้อย รวมถึงส่งน้ำดิบให้การประปานครหลวงเพื่อผลิตน้ำประปาป้อนพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ 550-570 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และอยู่ระหว่างการขยายกำลังผลิตของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์เป็นปีละ 930-950 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

ตัวเลขนี้ ยืนยันความมั่นคงของน้ำประปาในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้เป็นอย่างดี

กระทั่งในลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งประกบด้วย 3 ลำน้ำสายหลักก็ยังต้องสร้างเขื่อนเพื่อพาตัวเอง ทั้งแหล่งน้ำต้นทุนและการชะลอน้ำหลากฤดูฝน อาทิ เขื่อนคลองโพธิ์ จ.นครสวรรค์ และเขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี ในขณะลำน้ำแม่วงก์ไม่มีเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ และอุทกภัยในเขต อ.แม่วงก์ และอ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ เป็นประจำ

“ดังนั้น การเพิ่มเติมเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ฝาย ประตูระบายน้ำ กระทั่งการฟื้นฟูแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิมก็เป็นการบริหารจัดการน้ำให้สามารถใช้ถูกที่ถูกเวลาเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มการใช้น้ำจนกระทบต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด” ดร.สมเกียรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม สทนช. ได้ดำเนินการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อให้การพัฒนาแหล่งน้ำสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของพื้นที่อย่างแท้จริง โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ความต้องการของพื้นที่ และขีดจำกัดในการรองรับได้ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2563

ดร.สมเกียรติกล่าวอีกว่า การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกจากอาศัยศาสตร์พระราชาว่าด้วยอ่างพวง แก้มลิง เพื่อให้เกิดความสมดุลในลุ่มน้ำแล้ว ยังมีการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน เช่น โครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม มาเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพลประมาณปีละ 1,815 ล้านลูกบาศก์เมตร แทนการปล่อยลงแม่น้ำสาละวิน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนพื้นที่การเกษตรฤดูแล้งได้ 1.1-1.28 ล้านไร่ เพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค 626 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 400 ล้านหน่วย/ปี

อันนี้เท่ากับตอกย้ำความมั่นคงด้านน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลายจังหวัดเป็นรูปธรรมได้เป็นอย่างดี

ภายใต้การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำของประเทศ รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับนโยบาย (Regulator) เพื่อบูรณาการแผนงานโครงการ และบริหารจัดการน้ำให้กับหน่วยงานปฏิบัติ (Operator) เช่น กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น รวมทั้งตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 เป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อแก้ไขและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างในอดีต ซึ่งจะมีการผลักดันกฎหมายลูกเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป

รูปธรรมเหล่านี้ น่าจะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นรายละเอียดการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมถึงลุ่มน้ำอื่นๆ ด้วย

เพราะน้ำคือชีวิต การบริหารจัดการน้ำจึงมุ่งที่การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตที่เห็นรูปธรรมได้ดีที่สุด ชนิดไม่อาจลวงตาใครได้เลยเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน