ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) เปิดเผยว่า ผลจากการที่หมอและบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานในห้องสวนหัวใจโดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์ฟลูโรสโคปี้ (Fluoroscopy) เพื่อถ่ายดูภาพการทำงานขณะสวนสายหัวใจผู้ป่วย ทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับรังสีบริเวณเลนส์ตา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดต้อกระจก สทน.จึงได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลและเครือข่ายของโรงพยาบาล 12 แห่ง ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลนเรศวร พิษณุโลก โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น

ดำเนินโครงการประเมินรังสีที่ริมตาสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ สทน. จึงได้พัฒนาแผ่นวัดรังสีที่ริมตาสำหรับให้หมอและบุคลากรทางการแพทย์นำไปติดใกล้บริเวณตาเพื่อวัดปริมาณรังสีในขณะปฏิบัติงาน เพื่อตรวจวัดระดับรังสีที่ได้รับในขณะปฏิบัติงานว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด

นายอำไพ สุขบำเพิง ผู้จัดการศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สทน. ผู้รับผิดชอบการดำเนินการนี้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับแผ่นวัดรังสีที่ริมตาจะมีความแตกต่างจากแผ่นวัดรังสีส่วนบุคคลที่ สทน. พัฒนาออกมาใช้งานก่อนหน้านี้ เพราะนอกจากจะมีขนาดเล็กเพื่อความสะดวกไปติดอยู่ใกล้บริเวณตาโดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานแล้ว จะต้องมีเทคนิคในการวัดเพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำ ขณะนี้ได้นำแผ่นทดสอบแจกจ่ายให้แก่หมอที่อยู่ในโรงพยาบาลเครือข่ายนำไปทดสอบประสิทธิภาพในการใช้งาน จากการทดสอบในช่วงสองปีที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าปริมาณรังสีที่หมอและผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ได้รับอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

เมื่อการทดสอบสิ้นสุดลงภายในสิ้นปีนี้ก็จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานและแนวทางการป้องกันรังสีให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และที่สำคัญจะทำให้ทราบว่าแผ่นตรวจวัดรังสีที่ สทน.พัฒนาขึ้นมามีประสิทธิภาพและความแม่นยำในการตรวจวัดเพียงใด หรือจะต้องมีการปรับปรุงในส่วนใดบ้าง หลังจากนั้น สทน.จะผลิตแผ่นวัดรังสีส่วนบุคคลที่ริมตาเพื่อให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ คาดว่าจะผลิตออกมาให้บริการได้ในช่วงต้นปีหน้า และเป็นการสร้างความปลอดภัยให้บุคลากรสำคัญทางการแพทย์ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญอีกด้านหนึ่งของ สทน.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน