ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่การเคหะแห่งชาติมอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินโครงการศึกษาวิจัย “แนวทางการฟื้นฟูเมืองและสร้างชุมชนใหม่รามอินทรา โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม” สำหรับโครงการเคหะชุมชนรามอินทรานั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ ส่วนที่เป็นอาคารแฟลต มีแนวโน้มที่ดีต่อกระบวนการฟื้นฟู เนื่องจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ความทรุดโทรมของตัวอาคาร ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาความสะอาด การจัดการขยะ รวมถึงปัญหาอาชญากรรม ชุมชนเห็นว่า ควรใช้แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน (Mixed Development) โดยปรับรูปแบบจากอาคารแฟลตเป็นอาคารสูงแทน

ส่วนผู้อาศัยในชุมชนบ้านแถว ผลการวิจัยพบว่า ไม่ต้องการปรับเปลี่ยนทางกายภาพ โดยให้คงลักษณะเดิมไว้ โดยมีปัจจัยส่งผลต่อการตัดสินใจ เช่น มูลค่าที่ดินสูงกว่าแฟลต เจ้าของกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุไม่ต้องการแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหากต้องเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัย รวมถึงไม่ต้องการสูญเสียคำว่าหมู่บ้านจัดสรรที่มีการยอมรับทางสังคมดีกว่าคำว่า “อาคารชุด” เป็นต้น

คณะผู้วิจัยได้เสนอแนะให้การเคหะแห่งชาติ เร่งดำเนินการออกแบบวางผังโครงการอย่างเป็นทางการ โดยให้ชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย พร้อมทั้งกำหนดขอบเขตพื้นที่โครงการที่จะพัฒนาและพื้นที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจน ประกอบกับการศึกษาความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การให้ความสำคัญต่อชุมชนเดิมในปัจจุบัน ตลอดจนจัดตั้งองค์กรประสานงานระหว่างภาครัฐต่อรัฐ ภาครัฐต่อเอกชน เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการประสานงานและดำเนินโครงการ

“เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้อยู่อาศัยในโครงการ ทำให้เราเห็นภาพการพัฒนาในอนาคตชัดเจนขึ้น ไม่ใช่การเคหะแห่งชาติกำหนดเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งในส่วนของอาคารแฟลตที่จะปรับเป็นอาคารสูง เราก็ถอดเอาบทเรียนจากโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงมานำเสนอด้วย” ดร.ธัชพลกล่าว

โครงการเคหะชุมชนรามอินทรา ก่อสร้างเมื่อปี 2519 หรือ 43 ปีก่อน บนพื้นที่ 52,045 ไร่ มีจำนวนหน่วยอาศัย 812 หน่วย ประกอบด้วย อาคารแฟลตสูง 5 ชั้น จำนวน 490 หน่วย และบ้านแถว 2 ชั้น จำนวน 322 หน่วย รวมทั้งร้านค้าและพื้นที่บริการสาธารณะ นอกจากปัญหาสภาพแวดล้อมและปัญหาระบบสาธารณูปโภคแล้ว ยังมีปัญหาน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะเมื่ออุทกภัยใหญ่ปี 2554 เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบโครงการและระดับพื้นที่โครงการต่ำกว่าถนน 1.50 เมตร การเคหะแห่งชาติจึงมีแนวคิดในการฟื้นฟูชุมชนรามอินทรา เนื่องจากที่ตั้งปัจจุบันอยู่ในทำเลใจกลางเมือง เช่นเดียวกับโครงการเคหะชุมชนดินแดง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน