สภากรุงเทพมหานครก่อตั้งขึ้นโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 โดยกำหนดให้มีสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครชุดแรกมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 48คน มีการประชุมและเลือกประธานสภากรุงเทพมหานครขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2516 ประธานสภากรุงเทพมหานครคนแรก คือ พระยามไหสวรรย์ ซึ่งภายหลังสภากรุงเทพมหานครมีความเห็นให้ถือเอาวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี เป็นวันสภากรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา

ปัจจุบัน สภากรุงเทพมหานครมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครคงเหลือจำนวน 27 คน ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 86/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 และประกาศคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง การคัดเลือกและแต่งตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 กันยายน 2557 โดยมี ร้อยตำรวจตรี เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ดำรงตำแหน่ง ประธานสภากรุงเทพมหานคร นายกิตติ บุศยพลากร ดำรงตำแหน่ง รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง และนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ดำรงตำแหน่ง รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่สอง

ปี พ.ศ. 2562 เป็นโอกาสที่ครบรอบ 46 ปี ของการสถาปนาสภากรุงเทพมหานคร จนถึงขณะนี้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครชุดปัจจุบันได้ปฏิบัติหน้าที่มาเป็นเวลา 4 ปี 7 เดือน

โครงสร้างการบริหารราชการกรุงเทพมหานครที่สำคัญ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 57 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนชาวกรุงเทพมหานครที่มีสิทธิเลือกตั้ง จาก 50 เขต มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร อันเป็นตัวแทนภาระหน้าที่รับผิดชอบของสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 11 คณะ ได้แก่

  • คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุมและพิจารณาเปิดเผยรายงานการประชุมลับ
  • คณะกรรมการการศึกษาและวัฒนธรรม
  • คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง
  • คณะกรรมการการสาธารณสุข
  • คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม
  • คณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและติดตามงบประมาณ
  • คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
  • คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
  • คณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร
  • คณะกรรมการการจราจร ขนส่ง และการระบายน้ำ
  • คณะกรรมการการท่องเที่ยวและการกีฬา

ผลงานในการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร

  1. มีการจัดการขยะ พิจารณาการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปขยะมูลฝอยให้มีมูลค่า ปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครในการจัดเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรอง การแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 รวมถึงกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการตรวจสอบควบคุมและกำกับดูแลโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย
  2. การจัดการน้ำเสีย ศึกษาแนวทางการบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย การบริหารทรัพยากรน้ำ และการบำบัดน้ำเสีย เร่งดำเนินการและบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำคลองลาดพร้าวและคลองสอง
  3. การระบายน้ำ การเตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมจากน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน โดยมีการจัดสัมมนากำหนดแนวทางร่วมระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลที่มีพื้นที่รอยต่อติดกับกรุงเทพมหานคร
  4. การดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย การเร่งรัดการพัฒนามาตรฐานการดับเพลิงของกรุงเทพมหานครให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล การตั้งสถานีดับเพลิงเพิ่มเติม การศึกษาแนวทางการพัฒนาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง และเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กรณี รถและเรือดับเพลิง
  5. การจราจรและขนส่ง การเร่งรัดแก้ไขปัญหาการจราจรและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางการพัฒนาการเดินทางด้วยระบบ ล้อ ราง เรือ และการเชื่อมโยงเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว การตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต การศึกษาและทบทวนการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าด่วนพิเศษ (BRT) การจัดระเบียบและกำหนดมาตรการไม่ให้บุคคลนำสินค้ามาขายบนถนนสาธารณะ และการจัดระเบียบทางเท้า โดยนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน

ผลงานด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

  1. การส่งเสริมเศรษฐกิจเมือง เตรียมมาตรการรองรับผลจากคำพิพากษาศาลปกครองกลาง กรณีให้รื้อถอนตลาดในพื้นที่เขตประเวศ โดยคำนึงถึงผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การจัดให้มีถนนสายอาหารในกรุงเทพมหานคร การศึกษาแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการและพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การบริหารจัดการพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และพื้นที่ต่อเนื่องกันให้มีความสะอาดเรียบร้อย
  2. การศึกษา ศึกษาและแก้ไขปัญหาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่งเสริมและเร่งรัดให้มีเครือข่ายครอบครัวและชมรมผู้ปกครองในโรงเรียน และส่งเสริมและยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร
  3. การสาธารณสุข เร่งรัดการก่อสร้างโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร เช่น โรงพยาบาลลาดกระบัง และโรงพยาบาลอื่นๆ เพิ่มเติม แก้ไขปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออก เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เร่งดำเนินโครงการ 1 โรงพยาบาล 2 ระบบ ติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) จัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน