เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ ดร.สมชาย ธำรงสุข ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก (สออ.) ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ ประธานกลุ่มผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) และคุณชาคริต อภินรเศรษฐ์ ผู้จัดการฝ่ายขายบริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด ในโครงการ “พัฒนานักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ด้านการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ณ บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด

ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมไทยวันนี้ไม่เพียงแต่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 หากแต่มีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในวงการอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ก็จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นด้วย เพราะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่สามารถสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญที่เชื่อมโยงอีก 9 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ไปสู่การผลิตสมัยใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้มีเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้หุ่นยนต์ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ได้เริ่มหันมาใช้หุ่นยนต์ในการผลิตมากขึ้น โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ใช้หุ่นยนต์ได้เร็วคือการมีแรงงานทักษะสูง และมีธุรกิจที่สามารถผลิตหุ่นยนต์ได้เอง นั่นหมายความว่าประเทศไทย หากจะก้าวสู่ยุคการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างเต็มตัว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสรรพกำลังคนที่พร้อมพรั่ง

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. เปิดเผยว่า การลงนามครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ฝึกทักษะ ด้านการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้แก่นักเรียน นักศึกษา ทั้งจากสถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา ให้เกิดความตระหนักรู้ และได้รับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากในเขตพื้นที่ EEC ตลอดจนให้นักเรียน นักศึกษาได้เตรียมความพร้อมสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น หรือทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะช่วยพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ความชำนาญในด้านดังกล่าว สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ และปฏิบัติงานได้จริงในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังจะส่งเสริมให้คลัสเตอร์หุ่นยนต์นั้นมีศักยภาพที่สูงขึ้นตามไปด้วย

อุตสาหกรรมด้านงานเชื่อม ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เพราะการใช้งานระบบหุ่นยนต์ (Robotics) เชื่อมโยงกับทุกคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ที่ มจพ. นอกจากการพัฒนาการเรียนการสอน การทำงานวิจัย การถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยซึ่งเกิดความร่วมมือกับภาคอุตสากรรมเฉพาะทาง สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดย มจพ. ได้ตั้งเป้าให้ทุกหลักสูตรเป็นระบบวิสาหกิจศึกษา เพื่อลดช่องว่างระหว่างอุดมศึกษากับภาคอุตสาหกรรม และวันนี้สะท้อนให้เห็นว่าการลงนามความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของดีไซน์หลักสูตร หรืออบรมเพียงอย่างเดียว แต่หวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการวิจัย ทำนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ได้

ขณะที่ด้าน ดร.สมชาย ธำรงสุข ผู้อำนวยการ สออ. กล่าวว่า ครูถือเป็นบุคคลสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องของหุ่นยนต์และออโตเมชั่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ครูจำเป็นต้องมีความรู้ความชำนาญในเรื่องดังกล่าวที่มีความยืดหยุ่นในยุค 4.0 โดยความร่วมมือครั้งนี้ มจพ. ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของวิชาการ วิทยากร ในการอบรมบุคลากรของสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ EEC รวมถึงสถาบันอาชีวศึกษาในภาคอื่นๆ โดยที่บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด จะสนับสนุนในเรื่องของสถานที่ ครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ แขนกลต่างๆ ซึ่งปีนี้ได้ตั้งเป้าอบรมครูทั้งสิ้น 700 คน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการดังกล่าว โดย ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กีรติวินทกร ผู้อำนวยการสถาบันสหกิจศึกษาและพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไทย-เยอรมัน มจพ. เผยว่า ในเดือนมิถุนายน 2562 จะมีค่ายอบรมให้กับนักเรียนอาชีวศึกษา นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ในพื้นที่ EEC โดยมีเป้าหมาย 4,000 คน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ และเพิ่มความสนใจของเด็กนักเรียน รวมถึงจะมีการอบรมบุคลากรทางการศึกษา ครูอาชีวะ 700 คน ครูมัธยมศึกษา 400 คน เพื่อให้ความรู้ทางด้านหุ่นยนต์ ให้สามารถจัดการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงสาระของศาสตร์ต่างๆ ได้ จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2562 จะมีค่ายวิชาการอบรมและการแข่งขันสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี เดือนสิงหาคม 2562 จะเริ่มเปิดรับสมัครการแข่งขันหุ่นยนต์ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ปริญญาตรี เพื่อเข้าร่วมแข่งขันในมหกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในเขตพื้นที่ EEC ชิงถ้วยรางวัลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมหกรรมนี้จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2562

เรียกได้ว่าเป็นการผนึกกำลังร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้น โดยส่วนหนึ่งเพื่อที่จะให้เด็กไทยสนใจด้านหุ่นยนต์ เรียนต่อในวิชาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เพื่อผลักดันการผลิตและพัฒนาทักษะคน “อาชีวศึกษา” รองรับตลาดแรงงาน EEC มากกว่า 40,000 คน ภายในปี 2565 ตามโรดแมปของรัฐบาลที่วางไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน