ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการวิจัยร่วมกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีนในรูปของอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติเกาะติดเยื่อเมือกแบบแช่ทดแทนการฉีดแบบเดิม สำหรับควบคุมโรคติดเชื้อในปลานิลแก้ปัญหาโรคระบาดในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลานิลสามารถใช้ได้กับปลาทุกขนาด ครั้งละจำนวนมาก ต้นทุนต่ำ ประหยัดเวลาและแรงงาน อีกทั้งช่วยให้ปลาแข็งแรง ลดการใช้ยาและสารเคมี ได้เนื้อปลาที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงปลาและผู้บริโภคโดยตรงพร้อมสาธิตการใช้งานจริงที่ ณันต์ธชัยฟาร์ม อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เปิดเผยว่า งานวิจัยนาโนวัคซีนแบบแช่ มีโจทย์มาจากผู้ประกอบการที่ต้องการวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดที่สร้างความเสียหายร้ายแรงกับปลานิลเศรษฐกิจ โดยทีมวิจัยได้ทำการออกแบบ สังเคราะห์นาโนวัคซีนและลงมือศึกษาความเป็นไปได้ในการป้องกันโรคในปลานิลทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับภาคสนามร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จทำให้ได้นาโนวัคซีนแบบดูดซึมทางเหงือกและเกาะติดเยื่อเมือกเพื่อใช้ในการให้วัคซีนแบบแช่สามารถใช้ได้กับปลาทุกขนาดและครั้งละจำนวนมากเมื่อเทียบกับวิธีแบบเดิมที่ใช้ฉีดด้วยเข็มทีละตัวทั้งบ่อ ซึ่งวิธีใหม่นี้จะมีต้นทุนที่ต่ำ ประหยัดเวลาและแรงงานมากโดยงานวิจัยนี้สามารถขยายผลและต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณประโยชน์ได้ เพื่อลดความเสียหายจากการเกิดโรคระบาดในปลานิล โดยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของปลาต่อโรคและลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะเชื้อดื้อยาอีกด้วย

ด้าน ผศ.น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ รอดคำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาวัคซีนแบบแช่ในปลาเริ่มต้นจากการพยายามหาวิธีการที่สามารถให้วัคซีนปลาได้แบบง่ายๆ เนื่องจากวิธีการฉีดแบบเดิมค่อนข้างยุ่งยาก จำเป็นต้องวางยาสลบปลาและจับปลามาฉีดวัคซีนทีละตัว ปลาค่อนข้างเครียดและบอบช้ำ ทำให้การทำวัคซีนแบบนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร จึงได้หันมาให้ความสนใจกับการแช่ปลาด้วยแอนติเจนของเชื้อที่เคลือบไว้ด้วยอนุภาคนาโนที่สามารถเกาะติดกับเยื่อเมือกของปลาได้ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ปลาได้เป็นอย่างดีเพราะปลามีระบบภูมิคุ้มกันแบบเยื่อเมือกอยู่หลายแห่งทั่วร่างกาย นับว่านาโนเทคโนโลยี เป็นเทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาวัคซีนได้หลายชนิดจึงเกิดการทำวิจัยร่วมกันระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และนาโนเทคสวทช. ตามโจทย์และสมมุติฐานที่ตั้งขึ้น เพื่อให้ได้วัคซีนนาโนต้นแบบ ที่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการได้ด้วยนาโนเทคโนโลยี จนปัจจุบันมีผลงานทางวิชาการทั้งอนุสิทธิบัตรและผลงานวิจัยตีพิมพ์ร่วมกัน

จากการเริ่มต้นที่การผลิตวัคซีนต้นแบบจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเหงือกเน่าในปลานิลหรือโรคคอลัมนาริส ต่อไปคิดว่าจะมีการยกระดับการผลิต(Up scale)ไปสู่เชิงพาณิชย์(Commercial scale)โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชน นอกจากนี้มีแนวคิดที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆ ในปลานิล ด้วยนาโนเทคโนโลยี เช่น วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในกระแสโลหิตจากเชื้อ Aeromonasวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ Franciscellaวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในกระแสโลหิตจากเชื้อ Edwardsiellaเป็นต้น รวมถึงยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดไปพัฒนาวัคซีนในปลาอื่นๆ ด้วย เช่น ปลากระพง ปลาเก๋า และปลาคาร์ฟผศ.น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว

ขณะที่ นายธีระชัย นาคเกิด เจ้าของณันต์ธชัยฟาร์ม เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้เพาะเลี้ยงปลานิล ใน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ณันต์ธชัยฟาร์มจะทำการเพาะเลี้ยงปลานิลเป็นหลัก โดยเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปพร้อมทั้งจำหน่ายปลาเนื้อทั้งขายส่งตลาดและขายปลีกบางส่วนในฐานะเกษตรกรคนรุ่นใหม่ เห็นว่า การใช้นวัตกรรมนาโนหรือเทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญ เช่นงานวิจัยนาโนวัคซีน เพราะในปัจจุบันการเลี้ยงปลายังไม่มีการใช้วัคซีนกันอย่างแพร่หลาย คงใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะกันอยู่ ส่งผลต่อสุขภาพปลาเนื้อและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้วัคซีนดังกล่าวจะช่วยให้ปลาแข็งแรง ลดการใช้ยาและสารเคมีได้ ทำให้อัตราจำนวนปลาเพิ่มขึ้นช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงและที่สำคัญได้เนื้อปลาที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงปลาและผู้บริโภคปลาโดยตรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน