ขึ้นชื่อฤดูฝนแล้ว ยังไงก็ต้องระวังเรื่องน้ำฝน น้ำท่า น้ำท่วม
กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 และคาดหมายว่าจะสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคม 2562 โดยปริมาณฝนปีนี้ 3 เดือนแรกจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 10

พ้นจากนั้นเป็นการเข้าสู่ฤดูแล้งจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 หรืออาจลากยาวไปปลายเดือนพฤษภาคมเหมือนปีหลังๆ ที่ผ่านมา

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ไม่กังวลกับปริมาณฝนนัก แต่วิตกว่า ปริมาณฝนน้อยจะส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนในฤดูแล้งมากกว่า เนื่องจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วกว่า 6,000 ล้าน ลบ.ม.จึงมีแนวคิดเก็บน้ำทุกหยดไว้ในแหล่งน้ำ

“แต่ก็ต้องเตรียมการรับมือกับฤดูฝนในทุกมิติ” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว

ประมวลจากการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

หนึ่ง มิติสถานการณ์น้ำที่ประมวลจากทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น

รวมความแล้ว ปีนี้น้ำฝนน้อยกว่าปีก่อน น้ำต้นทุนก็จะน้อยตามไปด้วย จากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน ซึ่งก่อตัวตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงเดือนสิงหาคม 2562 พายุจรที่จะช่วยเพิ่มน้ำมีเพียง 1-2 ลูกเท่านั้น

สอง มิติการเพิ่มปริมาณน้ำอย่างต่อเนื่อง จากการทำฝนหลวงของกรมการบินฝนหลวงและการเกษตร ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ฤดูแล้งที่ผ่านมา ให้ดำเนินการต่อในฤดูฝนในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเน้นพื้นที่อ่างน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30%

เฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน และ กฟผ. ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% รวม 19 แห่ง จาก 36 แห่ง เช่น เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นต้น ส่งน้ำให้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น หมายถึงไม่ได้ส่งน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งยังต้องไปเดิมพันวัดดวงอีกครั้ง หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงปลายมิถุนายน-ต้นกรกฎาคม มีทางเดียวคือฝนต้องตกเหนือเขื่อนเหล่านี้จึงจะมีน้ำต้นทุนพอส่งได้

แต่ใช่ว่าน้ำเพื่อการเกษตรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบในช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝน การประปาส่วนภูมิภาครายงานว่า สาขาประปาที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและยังจ่ายน้ำเป็นเวลา ได้แก่ สาขาสุวรรณภูมิ หน่วยบริการเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด รับน้ำจากลำน้ำเสียวใหญ่ ปัจจุบันน้ำไหลไม่ถึงจุดสูบแล้ว และมี 14 สาขา ที่เฝ้าระวังเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ คาดว่าจะใช้น้ำได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน

สาม มิติการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำฤดูฝน สทนช. กำหนดเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของสถานการณ์ ได้แก่ ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (ระดับ 1) โดยปกติประสานข้อมูลจากหน่วยงานเกี่ยวข้องเช้า/เย็น เพื่อสรุปสถานการณ์ ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต (ระดับ 2-3) เมื่อมีพายุก่อตัว ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน หรือมีฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมหลายจังหวัด โดยขอความร่วมมือให้ส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาประจำที่ศูนย์ฯ ส่งข้อมูลให้ศูนย์วันละ 3 ครั้ง และประชุมวันละ 2 ครั้ง เช้า/เย็น และศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ (ระดับ 4 ) ให้หน่วยงานส่งข้อมูลทุก 3 ชั่วโมง ในพื้นที่วิกฤตรายงานทุกชั่วโมง ประชุมวันละ 3 เวลา

“เพื่อให้สามารถติดต่อข้อมูลในพื้นที่ได้ใกล้ชิด จะขอให้กำหนดตัวบุคคลที่จะติดต่อของแต่ละหน่วยงาน และเบอร์โทรศัพท์ เพื่อเช็กสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง จะได้ประเมินสถานการณ์ได้ใกล้เคียงสำหรับใช้ตัดสินใจ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

สทนช. ยังกำหนดรายงานรูปแบบและช่องทางการส่งข้อมูลให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เช่น ผ่านแอพพลิเคชั่น Line กลุ่ม จดหมายอีเล็กทรอนิกส์ (e-mail) และ Cloud Storage

ข้อมูลสถานการณ์น้ำเหล่านี้ ยังต้องสรุปเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล สทนช.

เป็น สทนช. ในบทบาทองค์กรหลักบริหารจัดการน้ำของประเทศ ภายใต้การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง 40 หน่วย ที่นับวันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรับมือสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหาย และเพิ่มศักยภาพในหลายด้าน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน