ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอนและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมระบบเกษตรพันธสัญญา ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จ โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำการเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ได้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย 60 ที่ผ่านมาต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เนื่องจากมั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาการทำการเกษตรในประเทศไทย ให้มีมาตรฐาน คุณภาพ และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกร และการทำธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรอย่างยั่งยืน

นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นับเป็นอีกอาชีพสำคัญที่เป็นทางเลือกให้เกษตรกรไทยในการสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ และกรมหม่อนไหมได้เข้าไปสร้างการรับรู้ในเรื่องพ.ร.บส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการก่อนที่จะดำเนินการตกลงซื้อขายผลผลิตตาม พ.ร.บ. อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้แต่ละฝ่ายเห็นถึงประโยชน์ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวที่จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย รวมทั้งการช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศแบบยั่งยืนในอนาคต ส่งผลให้มีผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรด้านหม่อนไหมจดแจ้งในระบบเกษตรพันธสัญญาแล้วคือ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด และเตรียมทยอยเข้าสู่ระบบอีกหลายราย

นางสุรีย์พัชร์ ต่อพลศรี อายุ 58 ปี ต.ลานสัก อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระบบแปลงใหญ่ ภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจำหน่ายรังในพื้นที่ชุมชน 4 สปก.อุทัยธานีกล่าวว่า หลังจากได้ตกลงทำสัญญาซื้อ-ขายรังไหมรังขาวหรือไหมอุตสาหกรรมระบบเกษตรพันธสัญญากับบริษัท จุลไหมไทย จำกัด โดยสัญญาครอบคลุมการซื้อ-ขายตั้งแต่มีนาคม 2562 -กรกฎาคม 2566 เป็นระยะเวลา 5ปี ทำให้ตนและครอบครัวมีความมั่นใจในรายได้และการทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากขึ้นจากเดิมต้องประสบปัญหาราคาขึ้น-ลงผันผวนทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน

ปัจจุบันตนมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 4.2 ไร่ในพื้นที่แปลงใหญ่หม่อนไหมชุมชน 4 สปก.อุทัยธานี ซึ่งทางบริษัท จุลไหมไทยฯ จะมีกฎเกณฑ์ว่าต้องทำอย่างไงถึงจะได้ราคาตามที่ตกลงกัน เช่น ต้องมีคุณภาพและต้องมีระบบประสิทธิภาพในการเลี้ยง โดยบริษัทฯ จะดูจากเปอร์เซ็นต์เปลือกรัง เวลามารับซื้อจะมีการสุ่ม เพื่อที่จะคัดรังดี รังเสีย รังเกรดเอ รังเกรดบี ถ้ารังเกรดเอ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 180-240 บาทต่อกิโลกรัมและหากรังไหมที่มีเปอร์เซ็นต์เปลือกรังดีก็จะได้ถึง 230 บาทจากเดิมจะราคาประมาณ170-180 บาท/กก. ระบบเกษตรพันธสัญญาได้สร้างแรงจูงใจที่เป็นธรรม ส่งผลให้ปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ทยอยเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญามากขึ้นจากเดิมมีการปลูกแค่ 50 ราย ตอนนี้เพิ่มเป็น 107 รายรวมพื้นที่ 200ไร่ เนื่องจากทุกคนเห็นความมั่นคงในอาชีพ การมีตลาดรองรับที่แน่นอน ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 22 วันก็สามารถสร้างรายได้ประมาณ 9,000 –14,000 บาท ขายแล้วภายใน 5 วันบริษัทฯจะโอนเงินเข้าบัญชีให้ทันที ทำให้เกษตรกรยิ้มออกและมีความภาคภูมิใจและรู้สึกมั่นคงในอาชีพ

ด้านนายไพฑูรย์ กลางแสง อายุ 41 ปี เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่แปลงใหญ่ จ.อุทัยธานีอีกรายเล่าว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาทำให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับปัญหาผลผลิตเพราะมีบริษัทฯรับซื้อที่แน่นอน และเชื่อมั่นว่าจะเข้ามาสร้างความเป็นธรรมในการตกลงซื้อ-ขายผลผลิตระหว่างพวกตนกับพ่อค้าหรือผู้รับซื้อ ซึ่งก่อนจะทำสัญญาตนและครอบครับได้ช่วยกันอ่านร่างสัญญาอย่างละเอียด เห็นแล้วว่าไม่มีข้อไหนที่เอาเปรียบกัน ประกอบกับกรมหม่อนไหมได้ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยตรวจตราสัญญาก่อนที่จะเซ็นยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่ารังไหมที่เราตกลงขายจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบราคาอย่างแน่นอน

“ข้อดีของการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาอีกข้อหนึ่งคือ บริษัทฯผู้รับซื้อจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต ภายใต้กฎหมายรองรับด้วยการส่งเสริมปัจจัยการผลิต อาทิ ตัวอ่อน เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย โฮโมน สำหรับใส่ตัวไหมให้ทำรัง ผ้าคลุม บริษัทสนับสนุนเกษตรกรในลักษณะที่ให้ก่อน พอขายแล้วค่อยหักล้างกันภายหลังทำให้เกษตรกรไม่ต้องลงทุนเอง โดยบริษัทฯจะหักประมาณ 30%ของยอดขายแต่ละครั้งจนกว่าจะหมด และหากเกษตรกรอยากได้อุปกรณ์หรือปัจจัยการผลิตอะไรเพิ่ม ทางบริษัทก็จัดหามาให้เพิ่ม” นายบุญเหลือ กล่าว

ระบบเกษตรพันธสัญญา” นับเป็นการเปิดมิติใหม่ในการพัฒนาภาคเกษตรไทยให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญช่วยคุ้มครองเกษตรกรซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งช่วยเหลือเกษตรกรมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบเกินสมควร อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน