นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท

กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เดินหน้าจัดเวทีสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พ.ศ.2561-2580) ต่อเนื่องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
เป็นประธานเปิดงาน แผน PDP 2018 เป็นแผนแม่บทจัดหาพลังงานระยะยาวของประเทศ 20 ปี
และได้ถูกปรับปรุงจากแผน PDP 2015 สาเหตุที่ต้องปรับปรุงเพราะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบสำคัญ
โดยเฉพาะตัวเลขการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไป โดยผู้ใช้ไฟสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือ Prosumer มากขึ้น ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าจาก 3 การไฟฟ้าลดลง ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีคไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงจากพีคกลางวันเป็นพีคกลางคืน รวมทั้งมีการผลิตเองใช้เองในภาคอุตสาหกรรม และอาคารโรงงาน บ้านเรือน ก็มีการติดโซลาร์รูฟเพิ่มขึ้น

แผน PDP 2018 ที่ปรับปรุงใหม่จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นแนวทางในการการวางแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคง และเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน

การจัดสัมมนามีขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในภาคใต้ มีโรงไฟฟ้าหลัก คือ โรงไฟฟ้าขนอมตั้งอยู่ ปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้พึ่งพากำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งไฟฟ้า และความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ยังไม่สามารถจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอ ต้องมีการรับไฟฟ้าจากภาคตะวันตก และคาดว่าตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไปจะต้องมีการจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม

 

 

 

 

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู

ภายในงานสัมมนา ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สนพ. บรรยายสรุปสาระสำคัญของแผน PDP 2018 ทั้งด้านสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศ แนวคิดในการจัดทำแผน
ภาพรวมของแผน เช่น การจัดสรรโรงไฟฟ้า กำลังการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าตามนโยบายส่งเสริมภาครัฐ
สัดส่วนเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ ตามเป้าหมายของแผนฯ จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2580 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนฯ จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายนี้จะต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 56,431 เมกะวัตต์ และปลดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุในช่วงปี 2561 – 2580 จำนวน 25,310 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะพัฒนาระบบผลิตและส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้รองรับการซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นและเกิดความมั่นคงทางพลังงาน และพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน รวมทั้งพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล ควบคุมและบริหารจัดการการผลิตและจ่ายไฟฟ้าโดยอัตโนมัติเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้าและใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา

การสัมมนาได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 300 คน ทั้งจากหน่วยงานรัฐ อาทิ พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช พลังงานจังหวัดสงขลา ภาคเอกชน อาทิ ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) สถาบันการศึกษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน