สภาพอากาศแปรปรวน และเริ่มมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อเนื่องบ้างแล้ว ซึ่งในส่วนของ กทม.ได้เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนอย่างเต็มกำลัง และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในหลายๆจุด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคู คลอง จัดเก็บผักตบชวา และเปิดทางน้ำไหล รวมถึงบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำ เครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง และจุดเฝ้าระวังในถนนสายหลัก หรือบริเวณที่มีปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับระบบระบายน้ำ โดยจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที ทำการลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำ แก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนที่กำหนด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด

ทั้งนี้ กทม.มีแผนรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก 9 ขั้นตอนด้วยกัน คือ 1.ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของกรุงเทพมหานคร ตลอด 24 ชั่วโมง 2.เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดเสี่ยงเกิดปัญหาน้ำท่วมให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที 3.ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำ และแก้มลิง ให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนที่กำหนด 4.แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio แจ้งเตือนไปยังสำนักงานเขต ผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย “อัมรินทร์” ของกรุงเทพมหานคร และแจ้งเตือนไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” 5.ส่งเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ปัญหาด้านการจราจร 6.เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคสนาม ตลอดจนผู้บริหาร กทม. ลงพื้นที่จุดที่มีน้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร ทราบเพื่อการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนต่อไป 7.ประสานขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม ทหาร เข้าช่วยเหลือประชาชน หากมีระดับน้ำท่วมสูง รถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้ 8.เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดวิกฤติ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมในทันที และ 9.แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลให้ประชาชน และสื่อมวลชนได้ทราบถึงสถานการณ์ฝนตกหรือจุดที่มีปัญหาน้ำท่วม ผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่

Website http://dds.bangkok.go.th และ Facebook:http://www.facebook.com/bkk.best

Twitter : http://twitter.com/bkk_best /bkk best และ Line id : @bkk_best

พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจะอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 10 เขต ได้แก่ บางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย บางกอกน้อย คลองสาน และเขตราษฏร์บูรณะ

สำหรับแนวทางป้องกันน้ำท่วมที่ผ่านมา กรุงเทพฯ สร้างแนวกั้นน้ำเสร็จแล้ว 77 กิโลเมตร จากพื้นที่แนวตลิ่งที่มี 88 กิโลเมตร มีระดับความสูงตั้งแต่ 2.80 – 3.50 เมตร ส่วนที่เหลืออีก 9 กิโลเมตร ยังก่อสร้างไม่ได้เพราะติดปัญหา ร้านค้า และบ้านเรือนริมน้ำสร้างรุกล้ำทำให้ต้องนำกระสอบทรายกว่า 300,000 กระสอบ วางเป็นแนวป้องกัน นอกจากนี้ ได้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในหลายๆจุด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม ขุดลอกคลอง รวมถึงก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณต่างๆ

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ไว้แล้ว เช่น วางกระสอบทรายในแนวฟันหลอ การสร้างสะพานไม้เป็นทางเดินเข้าออกชุมชน และแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง เป็นต้น 2.การป้องกันน้ำท่วมด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร โดยการก่อสร้างคันกั้นน้ำพระราชดำริ เพื่อป้องกันน้ำไหลจากพื้นที่ด้านตะวันออกเข้าท่วมพื้นที่ชั้นใน ความยาว 72 กิโลเมตร สามารถป้องกันน้ำไหลบ่าจากพื้นที่ด้านนอกได้ที่ระดับความสูง 2.50 – 3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 3.การระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครผ่านคลองสายหลัก สำหรับน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนนทบุรีบางส่วนจะไหลเข้าสู่คลองมหาสวัสดิ์และระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีน ส่วนน้ำที่ระบายผ่านพื้นที่ของกรุงเทพฯ จะระบายผ่านคลองทวีวัฒนา คลองซอย คลองขุนศรีฯ และคลองควาย และน้ำบางส่วนจะระบายผ่านคลองบางกอกน้อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา น้ำส่วนที่เหลือจะระบายลงสู่แก้มลิงคลองสนามชัย – มหาชัย ซึ่งอยู่ทางตอนล่างของพื้นที่และจะระบายสู่ทะเลต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน